เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.2 ตอบ 3 กระทู้ "ปมปัญหาที่ดินสมุย, เชียงใหม่-ระเบียบคกก.ชุมชน"


17 ธ.ค. 2563, 20:05



มท.2 ตอบ 3 กระทู้ "ปมปัญหาที่ดินสมุย, เชียงใหม่-ระเบียบคกก.ชุมชน"




วันนี้ ( 17 ธ.ค.63 ) ที่รัฐสภา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้แยกเฉพาะถึงการตรวจสอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินกรณีโรงแรม รีสอร์ท ที่สร้างบนเกาะหรือภูเขา ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยเฉพาะกรณีพื้นที่มีความลาดชันเกิน 35 องศาขึ้นไป ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า พื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย มีโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ ที่ปลูกสร้างอาคารบนเกาะ หรือบนภูเขาสูง ที่มีความลาดชันสูงเกิน 35 องศา ประชาชนต่างสงสัยว่า เหตุใดบรรดาโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ ที่ก่อสร้างบนพื้นที่ดังกล่าวได้ และมีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ อย่างไร

นายนิพนธ์ฯ ชี้แจงว่า การออกโฉนดที่ดินในที่ดินซึ่งเป็นที่ภูเขา ซึ่งที่ดินลักษณะดังกล่าวเป็นที่ต้องห้ามไม่ให้ออกโฉนด และยังเป็นพื้นที่ที่กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศหวงห้ามลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 บุคคลใดเข้ายึดถือครอบครอง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้มีการตรวจสอบตั้งแต่ในชั้นกระบวนการก่อนที่จะออกโฉนดที่ดินสอบแล้วว่า ผู้ขอได้มีสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายตามเงื่อนไขที่กฎหมายก่อนการกระทรวงมหาดไทยจะมีประกาศ ลงวันที่ 27 มีนาคม 2499 ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดิน (น.ส.3) ให้ได้ ในส่วนของการสร้างอาคารทั้งโรงแรม รีสอร์ทในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกินสูง 35 องศาขึ้นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 เห็นชอบกับคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติให้ถือว่าเป็นป่าไม้ เป็นพื้นที่ต้องห้ามออกโฉนดที่ดินพื้นที่ดังกล่าว หากมีการครอบครองในที่ดินแปลงนั้น ๆ มาก่อนมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดที่ดิน (น.ส.3) ได้ แต่หากปรากฏในภายหลังว่า มีการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรมที่ดินจะดำเนินการตรวจสอบและจะดำเนินการเพิกถอนแก้ไขโฉนดที่ดินนั้น และดำเนินการทางวินัยและอาญากับเจ้าหน้าที่ผู้ที่กระทำความผิด ทั้งนี้ หากพื้นที่ที่อนุญาตให้ก่อสร้างมีโฉนดที่ดิน (น.ส.3) มีการตรวจสอบแล้วว่า ออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและได้ถูกเพิกถอนไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน หรือมีการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่มีโฉนดที่ดิน จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ต่อไป

จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามแยกเฉพาะของ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส พรรคภูมิใจไทย จังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัญหาความล่าช้าในการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนที่สาธารณประโยชน์หนองหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยมากว่า 30 ปี ไม่สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง โดยนายนิพนธ์ กล่าวชี้แจงว่า ที่สาธารณประโยชน์ แปลงหนองหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ได้นำขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีเนื้อที่ 43 ไร่ และได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว แต่ต่อมาไม่สามารถออกหนังสือสำคัญที่หลวงได้เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่าการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวยังไม่ครบถ้วน ทางอำเภอจอมทองจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเขตที่สาธารณประโยชน์หนองหลวงเพื่อขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในส่วนที่เหลือ ปรากฏว่าคณะกรรมการไม่สามารถชี้แนวเขตหนองหลวงได้ เนื่องจากสภาพที่ดินเปลี่ยนแปลงไป กรณีนี้ต้องมีการวินิจฉัยว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ ซึ่งในการดำเนินการ ถ้าจะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเป็นอำนาจของนายอำเภอท้องที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลักษณะปกครองท้องที่ โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งที่ 829/2563 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีอาณาเขตของพื้นที่สาธารณประโยชน์หนองหลวงส่วนที่นอกเหนือจากที่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ดินเลข1535 หมู่ที่ 2 ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่ายังมีเนื้อที่คงเหลือเป็นที่สาธารณประโยชน์อีกหรือไม่ โดยสั่งการให้ผวจ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่ กำหนดนัดประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 หากไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาจอมทอง จะได้พิจารณาออกโฉนดที่ดินทั้ง 20 แปลงให้ต่อไป



จากนั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของของนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ส.ส พรรคเพื่อไทย จังหวัดเลย ถึงปัญหาค่าตอบแทนคณะกรรมการชุมชนในเขตเทศบาลทั่วประเทศ เนื่องจากคณะกรรมการชุมชนทำหน้าที่ช่วยเทศบาลกำกับดูแลชุมชนย่อยในพื้นที่เป็นตัวแทนชุมชนทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดูแลทุกข์สุขในเขตหมู่บ้านเช่นเดียวกับ อสม. และ อปพร. ซึ่งผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวมีค่าตอบแทนแต่คณะกรรมการชุมชนกลับไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงมหาดไทยได้เคยส่งหนังสือตอบกลับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ที่เรียกร้องเรื่องดังกล่าวว่ามีการร่างประมวลกฎหมายรองรับการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องแต่ขณะนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้า

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่ากระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นและให้ความสำคัญอย่างมากของการดูแลกรรมการชุมชนในการทำหน้าที่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้มีการยกร่างระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกรรมการชุมชนของเทศบาลแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 30 มิ.ย. 63 เพื่อรองรับสถานะของคณะกรรมการชุมชน เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. 64 ขณะเดียวกัน เมื่อมีระเบียบกำหนดสถานะแล้ว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้นำเรื่องค่าตอบแทนของคณะกรรมการชุมชนบรรจุไว้ในร่างประมวลกฎหมายส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานสำหรับการออกระเบียบดังกล่าว ขณะนี้ร่างประมวลกฎหมายอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาดำเนินการพร้อมย้ำว่าร่างประมวลกฎหมายมีการกำหนดเนื้อหามาตรา 227 เกี่ยวกับการสนับสนุนให้มีคณะกรรมการชุมชนรวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด แต่ยอมรับว่าเรื่องค่าตอบแทนกรรมการชุมชนจะต้องใช้งบประมาณราว 600 ล้านบาทต่อปี ทำให้ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำลังทำการบ้านในการพิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณจากส่วนใด แต่อย่างน้อยจะให้คณะกรรมชุมชนได้รับเบี้ยประชุม และค่าเดินทางได้







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.