เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ.กาญจน์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินป้องกันโควิด-19


10 ธ.ค. 2563, 10:02



สธ.กาญจน์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินป้องกันโควิด-19




วันนี้ 10 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ (VDO Conference)   สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นพ.นิพนธ์ พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี คณะกรรมการตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรณี โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดกาญจนบุรี  เพื่อเตรียมความพร้อมและเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อติดตาม ประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สรุปสถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ ข้อสั่งการปลัดกระทรวงสาธารณสุขโดยกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข เน้นย้ำมาตรการการดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  และติดตามการเตรียมความพร้อมของแต่ละกลุ่มภารกิจตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ กลุ่มภารกิจปฏิบัติการ (Operation) ทีมสอบสวนควบคุมโรค (Disease Control Team) กลุ่มภารกิจดูแลรักษาผู้ป่วย (Case Management) กลุ่มภารกิจสำรองเวชภัณฑ์ และส่งกำลังบำรุง (Stockpiling and Logistics) กลุ่มภารกิจสื่อสารความเสี่ยงและการประชาสัมพันธ์ (Risk communication) กลุ่มภารกิจการเงินและงบประมาณ (Finance Section) กลุ่มภารกิจกฎหมาย(LAW)

ผลการสำรวจอนามัยโพล ครั้งที่ 3 วันที่ 7-11 ธ.ค. 2563  (ข้อมูล ณ 8 ธ.ค. 10.00 น.)  เรื่องการสวมหน้ากาก พบว่า

1) ประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 10,135 คน สวมหน้ากากเป็นประจำอยู่ที่ร้อยละ 83.90 เพิ่มขึ้นจากกสำรวจครั้งที่ 2 (วันที่ 23-27  พ.ย.) ที่มีพฤติกรรมการสวมหน้ากากป้องกัน ร้อยละ  81.21

2) การสวมหน้ากากเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ พบว่าประชาชนสวมหน้ากากเป็นประจำมากที่สุด คือ

- ห้างสรรพสินค้า/คอมมูนิตี้มอล์ 75.47

- รองลงมาคือ โรงพยาบาล ร้อยละ 73.59

- ร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 71.11

- รถสาธารณะ ร้อยละ 68.13

- ห้องประชุม/ศูนย์ประชุม ร้อยละ 67.80

- ตลาด/ตลาดนัด ร้อยละ 67.56 ตามลำดับ

3) ส่วนสถานที่ที่ประชาชนสวมหน้ากากในสัดส่วนที่น้อยคือ  ฟิตเนส/โรงยิม และสวนสาธารณะที่มีการสวมเพียงร้อยละ 52.00 และ ร้อยละ 51.83 ตามลำดับ เนื่องจากต้องออกกำลังกาย และใส่หน้ากากเพียงบางเวลาเท่านั้น

4) สำหรับความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ COVID พบว่า

- ส่วนใหญ่ มีความกังวลในระดับปานกลาง ร้อยละ 37.10  รองลงมา คือ กังวลมาก ร้อยละ 33.80 กังวลเล็กน้อย ร้อยละ 25.40 และ รู้สึกเฉย ๆ ร้อยละ 3.70

เมื่อเทียบกับผลการสำรวจครั้งที่ผ่านมา  (วันที่ 23-27  พ.ย.)พบว่า ประชาชน.มีความกังวลในระดับมากเพิ่มขึ้น จากครั้งก่อน ที่ร้อยละ 23.30 เป็นร้อยละ 33.80

 

สำหรับสคร. 5 ราชบุรี ฝากเตือนระวังเด็กป่วย โรคมือ เท้า ปากเน้นคัดกรองและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค แนะช่วงเปิดเทอมขอให้ผู้ปกครอง และสถานศึกษาระวังเด็กป่วย โรคมือ เท้า ปากเน้นคัดกรองและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ข้อมูลปีนี้ พบว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีผู้ป่วยรวมกันมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยตลอดทั้งปี แนะให้สังเกตอาการของเด็ก หากมีไข้สูง ซึม เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียน ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติและแจ้ง ผู้ปกครองมารับกลับบ้านเพื่อดูแลเบื้องต้น หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียน จนกว่าจะหาย สถานศึกษาหมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้เด็กอย่างสม่ำเสมอ

 

นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้สถานศึกษาเริ่มเปิดภาคเรียน อาจมีการทำกิจกรรมรวมกันเป็นกลุ่มมีโอกาสใกล้ชิดกันมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย โดยสิ่งที่ผู้ปกครองและครูควรระมัดระวังไม่ให้เด็กป่วย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) แล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่มีแนวโน้มพบอัตราป่วย มากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของ เด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19 ด้วย สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2563 นี้ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม-พฤศจิกายน) พบผู้ป่วย 15,613 ราย จะพบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ สามารถติดต่อจากการ ได้รับเชื้อไวรัสเข้าทางปากโดยตรง โดยเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจาก แผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน เมื่อได้รับเชื้อเด็กจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ นายแพทย์สมาน กล่าวเน้นย้ำผู้ปกครองและสถานศึกษา ให้ดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่าง ใกล้ชิดและสม่ำเสมอ และขอแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ดังนี้

1.ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็ก ก่อนมาเรียน ส่วนสถานศึกษามีการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า

2.ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากาก อนามัย เพื่อลดการสัมผัส ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

3.หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่นและ พื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกันเป็นประจำ

4.สอนให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% ทั้ง ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังเล่นของเล่น

5.จัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำ กิจกรรมหรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย จำนวน 5-6 คน มีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร และ

6.หากเด็กไม่สบายหรือมีไข้ก่อนมาเรียน ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์และให้พักอยู่บ้าน ส่วนสถานศึกษา หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และ ให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก คนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี เบอร์ติดต่อ 032310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422 นายแพทย์สมาน กล่าวปิดท้าย./

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.