เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"หน.อช.ไทรโยค" สั่งปลูกพืชอาหาร - สร้างแหล่งน้ำ พร้อมติดตั้งกล้อง NCAPS เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่


14 พ.ย. 2563, 11:21



"หน.อช.ไทรโยค" สั่งปลูกพืชอาหาร - สร้างแหล่งน้ำ พร้อมติดตั้งกล้อง NCAPS เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่




วันนี้ 14 พ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ช้างป่าที่อาศัยอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค และเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ที่ออกมาหากินนอกพื้นที่ เป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎร ที่ทำการเกษตรที่อยู่รอบพื้นที่ป่า

จากรสชาติของพืชผลทางการเกษตรที่ราษฎรปลูกขึ้น เป็นแรงจูงใจหลัก ในการทำให้ช้างป่า ออกมาหากินนอกพื้นที่ป่ามากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน มาตรการในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย และเป็นถิ่นหากินของช้างป่าที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่ง ควบคู่กับการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับราษฎรที่อยู่รอบพื้นที่ป่า เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับ ช้างป่าลงได้

กลุ่มป่าตะวันตก เป็นผืนป่าอันกว้างใหญ่ที่มีเนื้อที่ประมาณ 11.7 ล้านไร่ ตั้งอยู่บริเวณ ภาคตะวันตกของประเทศไทย ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 17 แห่ง จัดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่านานาพันธุ์ เช่น เสือโคร่ง กระทิง วัวแดง และช้างป่า เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติไทรโยคและอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่อยู่ในกลุ่มป่าตะวันตกแห่งนี้ด้วย และประสบปัญหาจากการที่ช้างป่า ออกมาหากินนอกพื้นที่ป่า และสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่อยู่รายรอบเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจากการคาดการณ์น่าจะมีปริมาณช้างป่าที่เดินหากินไปมาระหว่างอุทยานแห่งชาติไทรโยคและอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ประมาณ 120 ตัว

โดยอุทยานแห่งชาติไทรโยค ตั้งอยู่ในอำเภอไทรโยคและอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 19 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 มีเนื้อที่ 595,868 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า มีพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ต่อการเป็นถิ่นอาศัยและถิ่นหากิน ของช้างป่า ในระดับมากถึงระดับปานกลาง มากถึง 521,107  ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.45 ของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย มีเนื้อที่ 74,761 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.55 

โดยลำน้ำสาขาของอุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ช้างเข้ามาใช้ประโยชน์ประกอบด้วย ห้วยแม่น้ำน้อย ห้วยเลาะห์ ห้วยเต่าดำ และห้วยพลู ทำให้พบเห็นเส้นทางการเดินและการอาศัยอยู่ของช้างป่า ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค บริเวณหมู่ที่ 4 บ้านแก่งจอ อำเภอทองผาภูมิ หมู่ที่ 6 บ้านดาวดึงส์ หมูที่ 8 บ้านบ้องตี้น้อย และหมู่ที่ 7 บ้านพุหว้า อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งอยู่ในอำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในลำดับที่ 114 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 มีเนื้อที่ 772,214 ไร่ โดยพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการเป็นถิ่นอาศัยและถิ่นหากินของช้างป่า ในระดับมากถึงระดับปานกลาง มากถึง 533,008 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 69.02  ของพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย มีเนื้อที่ 239,206 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.98

จากการเก็บข้อมูลทำให้เห็นว่าเส้นทางการเดินของช้างป่าในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้มีการกระจายหากินและหลบพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง, ตำบลท่าขนุน, ตำบลหินดาด, ตำบลลิ่นถิ่น, ตำบลปิล๊อก และช่วงรอยต่ออุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กับอุทยานแห่งชาติไทรโยค บริเวณเขารวก-ดาวดึงส์

ความเสียหายและผลกระทบของพืชผลการเกษตร จากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากชุด เฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ จะเห็นได้ว่าช้างป่าจะออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะมีทั้งที่มาเป็นโขลงและกระจายตัวออกจากโขลง ความเสียหายที่มีจะมากน้อยแตกต่างกันไป โดยจะมีระยะเวลาในการหาอาหาร นอกพื้นที่ป่าประมาณ 1-2 เดือน สำหรับพืชผลที่ช้างป่าชอบกินมากที่สุด คือ กล้วยน้ำว้า นอกจากนั้นยังมี มันสำปะหลัง ขนุน ปาล์ม มะพร้าว อ้อย ข้าวโพด และมะละกอ

นอกจากการทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรแล้ว ช้างป่ายังได้สร้างความเสียหายให้กับเสารั้วคอนกรีต ท่อ PVC และถังน้ำ อีกทั้งช้างป่ายังสร้างความหวาดกลัวแก่ราษฎรที่เข้าไปกรีดยางพาราในพื้นที่ เนื่องจากมีช้างป่าเข้ามายังพื้นที่สวนยางของราษฎร ทำให้เกิดความเกรงกลัวช้างป่า จนไม่กล้าจะเข้าสวนเพื่อกรีดยาง ทำให้ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ

และยังมีรายงานข้อมูลของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 – พ.ศ.2563 พบว่าช้างป่าทำร้ายร่างกายราษฎรและนักท่องเที่ยวจำนวน 13 ครั้ง รวมทั้งหมด 16 ราย เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บสาหัส 10 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้การช่วยเหลือและการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบเป็นที่เรียบร้อย

มาตรการในการลดผลกระทบจากช้างป่า อุทยานแห่งชาติไทรโยคและอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้จัดตั้งชุดเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นอกเหนือจากภารกิจ งานลาดตระเวนป้องกันพื้นที่แล้ว ยังต้องรับหน้าที่ที่เสี่ยงจากอันตรายในการขับต้อนโขลงช้าง ที่ออกมาให้กลับเข้าสู่ป่าอย่างปลอดภัยด้วย

ซึ่งช่วงเวลาที่ช้างป่าออกมามักเป็นช่วงเวลาตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป จนถึงช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ และยังมีสภาพอากาศที่เย็นสบายเหมาะแก่การเดินหากินของช้างป่าเป็นอย่างยิ่ง

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติจะร่วมกับผู้นำชุมชนและราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานของตำรวจและทหาร เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดทิศทางในการกดดันช้างป่าให้กลับเข้าพื้นที่ ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกลุ่มนี้ต้องทำงานกันจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

การสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นจิตอาสาในการเฝ้าระวังช้างป่า เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญ เพื่อเป็นกระบวนการสร้างการรับรู้และเสริมสร้าง ความเข้าใจ ในการทำให้ราษฎรในพื้นที่ไม่เห็นช้างป่าเป็นศัตรู และร่วมกันขับต้อนช้างให้กลับเข้าสู่ป่า อย่างปลอดภัย ด้วยการจัดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นลงได้

การจัดทำฐานข้อมูลช้างป่าและพัฒนาศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นอีกหนึ่งมาตรการของแผนการจัดการช้างป่าในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ได้มีการปลูกพืชอาหารสำหรับสัตว์ป่า จำนวน 600 ไร่ และจัดทำแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ป่าอีกจำนวน 12 แห่ง ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติไทรโยค

นอกจากนี้ทั้ง 2 อุทยาน ได้ติดตั้งกล้อง NCAPS (เอ็นแค็ป) สำหรับการเฝ้าระวังช้างป่าออกนอกพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อใช้ในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังช้างป่าล่วงหน้า เป็นการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ราษฎร อีกทั้งการปลูกไผ่หนามเพื่อเป็นแนวรั้วตามธรรมชาติเพื่อป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ก็จะดำเนินการตามแผนการจัดการช้างป่าต่อไป

 

การได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่อยู่ติดกับพื้นที่ป่า การสร้างป่าที่เป็นบ้านสำหรับสัตว์ป่าให้อุดมสมบูรณ์ การสร้างคนด้วยการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยหวังว่า เพื่อให้ ป่า ช้าง คน อยู่ร่วมกันได้บนหนทาง ที่พึ่งพาและมีความสุขตลอดไป

 

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.