เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



23 ตุลาคม "วันปิยมหาราช" วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


23 ต.ค. 2563, 08:32



23 ตุลาคม "วันปิยมหาราช" วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็น "วันปิยมหาราช"

ในวันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ ไปวางพวงมาลา ณ พระบรมรูปทรงม้าซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นประจำทุกปี



พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" จากนั้นได้ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 และบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" 


          เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช 

          ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม 

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าฯ ในพระราชฐานก็ใช้ยืนและนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน 

          เมื่อพระชนมพรรษาบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน 

          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้ 

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี 


- การเลิกทาส  เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ามีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงมีพระราชหฤทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงปีที่พระองค์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ มีบัญญัติว่า ลูกทาสซึ่งเกิดเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2411 ให้มีสิทธิ์ได้ลดค่าตัวทุกปี และพอครบอายุ 21 ปี ก็ให้ขาดจากความเป็นทาสทั้งชายและหญิง จากนั้นใน พ.ศ. 2448 จึงได้ออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า "พระราชบัญญัติทาส ร.ศ. 124" (พ.ศ. 2448) เลิกลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาส ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป 

- การปฏิรูประบบราชการ ทรงแยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ มีหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะไม่ก้าวก่ายกัน จากเดิมมี 6 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงนครบาล, กระทรวงวัง, กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตราธิการ ได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการของพระสงฆ์ และการศึกษา, กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับคดีความที่ต้องตัดสินต่าง ๆ, กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่ดูแลตรวจตราการก่อสร้าง การทำถนน ขุดลอกคูคลอง งานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และกระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่ดูแลงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ


- การศึกษา ทรงโปรดให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง แล้วมีหมายประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้ส่งบุตรหลานเข้า เรียน โรงเรียนภาษาไทยนี้

- การคมนาคม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขยายถนนบำรุงเมือง ถนนที่ทรงสร้างใหม่ คือ ถนนเยาวราช ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนดินสอ ถนนบูรพา ถนนอุณากรรณ เป็นต้น

- การสุขาภิบาล ได้ทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อดูแลจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นหลายแห่ง เช่น ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลบางรัก โรงพยาบาลโรคจิต และโรงเลี้ยงเด็ก 

- การสงครามและการเสียดินแดน ท่านทรวงควบคุมการเสียดินแดนของไทย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามทำให้ได้ประโยชน์จากการเสียดินแดนให้มากที่สุด

- การเสด็จประพาส ระหว่างที่ยังมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายที่ เพื่อดูแบบอย่างการปกครอง และนำมาแก้ไขดัดแปลงใช้ในประเทศของเราบ้าง

- การศาสนา ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกโดยแท้จริงในด้านพระพุทธศาสนา

- การวรรณคดี ทรงเป็นนักประพันธ์ ซึ่งมีความชำนาญทั้งทางร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น ไกลบ้าน ลิลิตนิทราชาคริต เงาะป่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นต้น






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.