เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ยังคงสภาพเดิม!! "กุฏิเก่าแก่" สมัยรัชกาลที่ 5 อายุมากกว่า 100 ปี


11 ต.ค. 2563, 20:51



ยังคงสภาพเดิม!! "กุฏิเก่าแก่" สมัยรัชกาลที่ 5 อายุมากกว่า 100 ปี




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า พบกุฏิเก่าแก่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 อายุมากกว่า 100 ปี และเป็นกุฏิที่สวยที่สุดของประเทศที่ยังคงสภาพเดิม โดยกุฏิหลังดังกล่าว อยู่ภายในวัดดอนสะท้อน หมู่ 6 ตำบลปากแพรก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2486 สมัยหลวงพ่อทองพุทธะ สะวัณโณ เป็นเจ้าอาวาส เป็นกุฏิครึ่งตึกครึ่งไม้สอง ตัวอาคารชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน เสาก่ออิฐฉาบปูนเป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง มีลวดลาย บัวหัวเสารับปูนปั้น เป็นบัวแปดกลีบ ราวลูกกรงลวดลายบัวปูนปั้นบน – ล่าง ลูกมะหวดปูนขนาด 4 นิ้ว เสาลูกกรงย่อมุมไม้สิบสอง มีหัวเม็ดกลม ลักษณะฝังลายกลีบบัว ช่องวงกบประตูหน้าต่าง ส่วนบนโค้งครึ่งวงกลม บานวงกบประตู -หน้าต่างเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย

พื้นชั้นล่างเป็นซีเมนต์ขัดมัน บันไดทางขึ้นชั้นบนก่ออิฐฉาบปูน ตัวอาคารชั้นบนเป็นไม้ทั้งหมด พื้นไม้กระดานมีขนาด 7x8 นิ้ว ฝาไม้กระดานขนาด 0.75 x 6 นิ้ว ตีซ้อนเกล็ดแนวนอน ระเบียงด้านหน้ามีลูกกรงไม้กลึงโดยรอบ ประตูหน้าต่างลูกฟักไม้ ประกอบลวดบัว ช่องลมโดยรอบอาคารทั้งหมดเป็นแผ่นไม้ฉลุลาย หัวเสาระเบียงด้านหน้ามีไม้ฉลุประดับ หลังคาทรงปั้นหยาโครงสร้างไม้เนื้อแข็ง เพดานแผ่นไม้ 0.5x 6 นิ้ว ซึ่งทุกอย่างยังคงสภาพดังเดิม ไม่ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

มีเพียงหลังคา ที่เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แต่เพราะด้วยความทรุดโทรมตามกาลเวลา ได้รื้อลงและได้เปลี่ยนมาเป็นกระเบื้องคล้ายกระเบื้องว่าวในสมัยโบราณทรงหยดน้ำ และปัจจุบันนี้กุฏิหลังนี้ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักการโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดูแลซ่อมแซมทั้งสิ้นประกาศขึ้นทะเบียน ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอน 80 ง.วันที่ 12 กันยายน 2540

นอกจากกุฏิโบราณแล้ว วิหารศาลาการเปรียญก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความเก่าแก่ ไม่น้อยไปกว่ากุฏิ โดยวิหารศาลาการเปรียญหลังนี้ พื้นจะเทด้วยปูนซีเมนต์ขัดมันฐานอาคารก่ออิฐฉาบปูนไม่มีบัวฐาน มีเส้นลวดประดับทางขึ้นด้านหน้า ด้านซ้ายเป็นสิงห์ ด้านขวาเป็นเสือลายพาดกลอน เสาอาคารฉาบปูนประดับบัวหัวเสา ราวลูกกรงลวดบัวลูกมะหวดแบน เสารางลูกกรงมีหัวเม็ด หลังคาทรงไทย โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หัวนาค สันหลังคาชุด ล่างประดับใบระกาและปูนปั้นรูปครุฑ ผ้าไขราไม้ ฝ้าเพดานช่องในไม้ 1x8 นิ้ว สร้างขึ้นเมื่อปี 2473

โดย พระปลัดประมวล ฐิตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อนคนปัจจุบัน เปิดเผยว่า หลวงพ่อทองมีวิชาอาคมสามารถปราบ จระเข้ได้เพราะสมัยก่อนบริเวณแม่น้ำสวี จระเข้ชุกชุมมาก เมื่อมาจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนสะท้อนแห่งนี้ ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันสร้างเป็นที่พัก สำหรับพระที่มาจำพรรษาเป็นห้อง จำนวน 9 ห้อง หลังจากนั้นก็ได้มีการสร้างในส่วนของกุฏิหลังนี้ สาเหตุที่ได้สร้างขึ้นมาเพราะในช่วงสมัยที่กำลังสร้างทางรถไฟสายใต้นั้น นายช่างที่สร้างทางรถไฟได้ผ่านมาที่อำเภอสวีได้มีความศรัทธาหลวงพ่อทอง จึงได้นำแบบแปลนมาจากกรุงเทพและมาช่วยกันสร้างกุฏิหลังนี้ ซึ่งอาคารหลังนี้น่าจะถูกสร้างในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ช่วงรัชกาลที่ 5 จากคำบอกเล่าของคนโบราณ ซึ่งกุฏิหลังนี้ด้านบนจะมีห้อง 2 ห้องอยู่ทางทิศตะวันออก โดยจะมี 1 ห้องจำวัด (ห้องนอน) ของหลวงพ่อทอง และอีกห้องเล็กๆ และมีห้องโถงใหญ่ 1 ห้อง กุฏิหลังนี้ยังคงรักษาสภาพความเก่าแก่ความโบราณไว้ได้อย่าง ถึงจะมีการซ่อมแซมปรับปรุงไปหลายครั้งก็ตาม

เจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน กล่าวว่า ตั้งแต่ตนเองได้มาอยู่ที่วัดแห่งนี้ได้ประมาณ 9 ปี ก็ได้พยายามที่จะอนุรักษ์ดูแลรักษา ของเก่าแก่ที่คงเหลืออยู่ที่วัดแห่งนี้ให้ยังคงสภาพเดิมให้มากที่สุด ถึงแม้จะมีชาวบ้านหลายๆ คนเข้ามาถามในช่วงที่มีช่างเข้ามาซ่อมแซมกุฏิว่า ทำไมถึงไม่เปลี่ยนของใหม่ให้หมด ซึ่งชาวบ้านบางคนไม่รู้ถึงความสำคัญและความเป็นมาของกุฏิหลังนี้ ก็อยากได้ของใหม่ที่ดูแลบำรุงรักษางาน ซึ่งตนเห็นว่าอะไรที่ยังใช้ได้ซ่อมได้ก็จะซ่อมและถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนก็จะเปลี่ยนให้เหมือนของเดิมมากที่สุด เพราะกุฏิหลังนี้ในจังหวัดชุมพรคงเป็นที่เดียวที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดและยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นที่เดียวในประเทศไทยด้วยก็ได้ จึงอยากจะดูแลรักษาไว้ให้ลูกให้หลานได้ดูและเป็นตำนานสืบต่อไป
 

 

 

 









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.