เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ภัยแล้งลาม! ทุ่งนาขาดน้ำ สัตว์เลี้ยงขาดหญ้า น้ำโขงลดฮวบไม่หยุด หลังจีนกักน้ำ ลาววิกฤติ (มีคลิป)


21 ก.ค. 2562, 09:53



ภัยแล้งลาม! ทุ่งนาขาดน้ำ สัตว์เลี้ยงขาดหญ้า น้ำโขงลดฮวบไม่หยุด หลังจีนกักน้ำ ลาววิกฤติ (มีคลิป)




     วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขง บริเวณสถานีตรวจวัดน้ำชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม วัดได้ 1.48 เมตร ซึ่งมีระดับต่ำกว่าวานนี้(20 ก.ค.) 17 ซม. และเมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำโขงเมื่อปีที่แล้ว(2561) น้ำโขงต่ำกว่าปีก่อน 8.33 เมตร ขณะที่สถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชม.ข้างหน้า ว่า บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนหรือฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย สกลนคร นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ โดยสถานีอุตุฯนครพนม รายงานปริมาณฝนในจังหวัด มีเพียงอำเภอบ้านแพงแห่งเดียวที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกประมาณ 5.0 ม.ม. ส่วนอีก 11 อำเภอที่เหลือตัวเลขเป็นศูนย์คือไม่มีฝนตก

     ปัญหาสงครามภัยแล้งที่ลุกลามพื้นที่จังหวัดนครพนม ยังส่งผลให้พื้นที่การเกษตรในอำเภอศรีสงคราม รวม 9 ตำบล จำนวน 56,682 ไร่ ได้รับความเสียหาย 100 % ซึ่งจังหวัดนครพนม โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้มีหนังสือขอฝนหลวงไปแล้วเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ขณะที่ในพื้นที่นาของเกษตรกรพบว่า หลังปักดำเรียบร้อยแล้วแต่ไม่มีฝนตกลงมา ทำให้น้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงต้นข้าวเริ่มเหือดแห้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ขยายเป็นวงกว้างไปทุกอำเภอของจังหวัดนครพนม

     นอกจากนี้ผลกระทบจากภัยแล้งยังทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ขาดแคลนหญ้า นายแถวเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย วัย 63 ปี บ้านโนนจันทร์ หมู่ 8 ต.ท่าลาด อ.เรณูนคร เผยว่าในทุกๆปีระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะมีฝนตกชุก น้ำในนาก็เจิ่งนอง หญ้าที่ให้วัวควายบริโภคก็เขียวขจีในป่าสาธารณะ มีให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้เล็มกินได้อย่างเหลือเฟือ แต่ปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหญ้าในป่าที่เคยพาวัวควายไปเลาะเล็มก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องพามาหากินหญ้าอยู่ริมถนนหลวง ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายอื่นก็ใช้วิธีเดียวกับตน



     และจากกรณีมีผู้อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญลุ่มน้ำโขงของจังหวัดนครพนมรายหนึ่ง อ้างว่าวิกฤติน้ำโขงลดระดับลง เกิดจากเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือของนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว กักเก็บน้ำ เพื่อทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ซึ่งในความเป็นจริงเขื่อนดังกล่าวไม่ได้กักเก็บน้ำในแม่น้ำโขง หากเกิดจาก 10 เขื่อนของประเทศจีน ที่คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ว่าปีนี้จะมีปัญหาภัยแล้ง จึงกักเก็บน้ำในเขื่อนที่สร้างขวางแม่น้ำโขงไว้ทุกเขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนวุ่นอองหลง,หวงเติ้ง,ต้าหัวเฉียว,เมียวเว่ย,เสี่ยววาน,ม่านวาน,ต้าเฉาชาน,นัวจาตู้,และเขื่อนจิงหง(เชียงรุ้ง/สิบสองปันนา) จึงทำให้ประเทศผู้อยู่ใต้จีนแผ่นดินใหญ่ ได้รับผลกระทบไปตามๆกัน โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ ประชากรทั้งประเทศประมาณ 60 % ต่างใช้น้ำโขงอุปโภค บริโภค ส่วนอีก 40 % ได้จากจากน้ำงึม และห้วย หนอง คลอง ต่างๆ ขณะนี้ทางการลาวได้ประกาศให้ประชาชนของตนระมัดระวังการใช้น้ำแล้ว ประกอบกับประเทศจีนไม่ได้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง  (Mekong River Commission : MRC) ซึ่งตั้งเป็นองค์การร่วมมือระหว่างรัฐบาล เพื่อส่งเสริมและประสานงาน จัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอื่น ที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ฯ  มีสมาชิกอย  4 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย ส่วนจีนกับเมียนม่าร์ไม่สนใจเข้าร่วม โดยเฉพาะจีน เคยประกาศสร้างเขื่อนขวางแม่น้ำโขงถึง 20 แห่ง สร้างเสร็จไปแล้ว 10 แห่ง หากต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก MRC ก็จะมีผลกระทบต่อเขื่อนที่สร้าง เพราะจะต้องมีความโปร่งใสในการใช้น้ำในแม่น้ำโขงร่วมกันนั่นเอง สำหรับประเทศเมียนม่าร์แม่น้ำโขงไหลผ่านบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงข้ามกับหลวงพระบาง ประเทศลาว จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย


ชมคลิป

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.