เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



นร.รร.กระเทียมวิทยา อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สวมผ้าถุงไหม-ผ้าโสร่งไหมพื้นบ้าน ไปเรียนทุกวันศุกร์


19 ก.ค. 2562, 16:10



นร.รร.กระเทียมวิทยา อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สวมผ้าถุงไหม-ผ้าโสร่งไหมพื้นบ้าน ไปเรียนทุกวันศุกร์




วันนี้ (19 ก.ค.62) ผู้สื่อข่าว ONB news ได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนกระเทียมวิทยา เลขที่ 240 ม.2 ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ หลังพบว่าในโลกโซเชียลได้มีการแชร์ภาพและข้อความชื่นชมโรงเรียนและเด็กนักเรียนที่พากันสวมใส่ผ้าถุงไหมและผ้าโสร่งไหมพื้นบ้านไปเรียนหนังสือทุกวันศุกร์ เป็นภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง และหลังจากผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงที่บริเวณหน้าโรงเรียนกระเทียมในช่วงเวลาประมาณ 07.30 น. ที่ผ่านมา พบเด็กนักเรียนทั้งหญิงต่างพากันสวมผ้าถุงไหม ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นบ้าน ส่วนนักเรียนชายก็พากันสวมผ้าโสร่ง ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นบ้านเช่นกัน เดินทางมาโรงเรียนกันอย่างคึกคัก บางคนจับกลุ่มกันเดินเท้ามาโรงเรียน บางคนขับขี่ซ้อนรถจักรยานยนต์กันมา บางกลุ่มนั่งรถโดยสารประจำทาง ทั้งนั่งภายในรถ ส่วนนักเรียนชายก็นั่งบนหลังคาเดินทางมาโรงเรียน

ก่อนที่จะมีคุณครูเวร คอยยืนทักทายเด็กๆ นักเรียนอยู่ที่บริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน ขณะที่เด็กๆ เองก็ไหว้สวัสดีคุณครู ก่อนจะเดินเข้าไปในโรงเรียนเพื่อช่วยกันเก็บกวาดขยะ เศษใบไม้ใบหญ้าต่างๆ เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน ก่อนที่จะถึงเวลาเข้าแถว เคารพธงชาติหน้าเสาธง และสวดมนต์ไหว้พระ กลางสนามฟุตบอลอย่างพร้อมเพรียงและเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างยิ่ง ก่อนจะขึ้นชั้นเรียนตามปกติ โดยเด็กผู้หญิงบางคนก็ใช้เข็มขัดเงินที่มีลวดลายสวยงามแตกต่างกันไปในการใช้รัดผ้าถุงไหม ส่วนผู้ชายบางคนก็ใช้ผ้าขาวม้ารัดเอวแทนอีกด้วย ทั้งหมดเป็นภาพบรรยากาศที่อบอุ่นในยามเช้าของทุกวันศุกร์ของโรงเรียนแห่งนี้ ที่สามารถสร้างความน่ารักน่าประทับให้แก่ผู้ที่พบเห็นได้เป็นอย่างดีโดยโรงเรียนกระเทียมวิทยา จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ชั้น ม.6 มีเด็กนักเรียนทั้งหมดจำนวน 903 คน

 

 

น.ส.ปนัดดา เกี๋ยงเถิน เรียนอยู่ชั้น ม.5/1 โรงเรียนกระเทียมวิทยา กล่าวว่า การที่ตนเองได้สวมใส่ผ้าไหมที่ชุมชนทอ หรือจากตัวเองทอ ก็เหมือนกับการว่าเราได้อนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมู่บ้านเราเอง พวกเราสวมใส่ผ้าถุงไหมและโสร่งมาโรงเรียนทุกวันศุกร์มาได้ประมาณ 3-5 ปีแล้ว ส่วนเวลาสวมใส่ก็ไม่รู้สึกลำบากหรืออึดอัดอะไรเลย เพราะเวลาสวมใส่เราควรกะหรือใส่อย่างไรให้ดูดี ไม่ให้ให้แน่นไปหรือหลวมไป ตนใส่ผ้าถุงไหม ลายมวลดอกไม้ เป็นผ้า 5 ตะกอ เป็นผ้าที่ชาวบ้านทอเอง สุรินทร์จะโด่งดังเรื่องผ้าไหม โดยเฉพาะที่ ต.กระเทียม เราจะมีชื่อเสียงในเรื่องผ้าไหมและเฟอร์นิเจอร์เป็นส่วนใหญ่ ทางโรงเรียนมีการส่งเสริม ด้วยการตั้งเป็นชุมนุมอนุรักษ์ผ้าไหม การทำผ้าไหมของโรงเรียน เช่น การทำผ้าไหมให้ผู้ประเมิน เด็กนักเรียนก็เป็นผู้ถักทอเอง เพื่อเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเด็กนักเรียนทอผ้าไหมเป็นกันเยอะมาก

นางกันธิมา ยวงแก้ว ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกระเทียมวิทยา กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าว เริ่มจากการที่โรงเรียนกระเทียมวิทยาของเรามีอัตลักษณ์เด่น คือ กีฬาเด่น เน้นภูมิปัญญาผ้าไหมและใส่ใจสะอาด มีผู้อำนวยการโรงเรียน คือนางอุดมพร สิงห์ชัย ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา โดยมีวิทยากรท้องถิ่น ซึ่งเป็นศิลปินโอท็อป เป็นผู้ให้การสนับสนุน โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมชุมนุมสืบสานเส้นสายใยไหม ชุมนุมของเราก็จะเชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมที่เป็นขบวนการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 เน้นให้ผู้เรียนมีงานทำ ซึ่งเด็กๆ ของเราก็มีรายได้จากกิจกรรมภูมิปัญญาผ้าไหม

ส่วนที่ให้เด็กนักเรียนสวมผ้าไหมมาโรงเรียนทุกวันศุกร์เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ทำอย่างไรที่เราจะสานต่อ ปลูกฝังเด็กๆ ให้ต่อยอดเพื่อที่จะให้ผ้าไหมของเรา สืบทอดไปยังเยาวชนรุ่นหลัง ให้เขาเห็นคุณค่า เห็นคุณประโยชน์ที่สามารถจับต้องได้ และใช้ได้ในชีวิตจริง ซึ่งการดำเนินการของกิจกรรมชุมนุมเริ่มมา 10 กว่าปีแล้ว ส่วนการให้สวมใส่ผ้าไหมเริ่มจากคุณครูก่อนมานานหลายปีแล้ว และให้นักเรียนมีการสวมใส่ในกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ และมาในช่วง 2-3 ปีหลัง จึงได้ให้มีการสวมใส่ทุกวันศุกร์ เด็กที่สวมใส่ ต่างมีความรู้สึกว่าผ้าไหมมีคุณค่า ที่มาจากใจ จากพ่อแม่ที่ทำอยู่ที่บ้าน เพราะฉะนั้นอะไรที่มาจากใจ นักเรียนก็ชอบ การสวมใส่เป็นลักษณะกายภาพ เมื่อสวมใส่แล้วดูสวยดูงาม ดูดี นักเรียนก็ชอบสวมใส่ ส่วนผ้าไหมมีการทอตั้งแต่ 2 ตะกอ 3 ตะกอ 5 ตะกอ ส่วนบ้านไหมที่มีผู้ปกครองทอเอง บางผืนที่นักเรียนสวมใส่มาโรงเรียนแพงกว่าของคุณครูก็มี แต่ละผืนมีตั้งแต่ 2-6 พันบาท ตนมีความเกี่ยวข้องกับผ้าไหมค่อนข้างลึกซึ้ง เพราะคุณแม่เป็นคนทำผ้าไหม ตนเห็นมาตั้งแต่เด็ก พอมาทำหน้าที่ครูในจุดนี้ จึงอยากที่จะสานต่อและต่อยอดต่อไป

 




 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.