เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.3 ลุยตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา หลังพบเกิดปัญหาหลายด้าน


29 ส.ค. 2563, 20:40



มท.3 ลุยตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา หลังพบเกิดปัญหาหลายด้าน




วันที่ 29 ส.ค. 2563 เวลา 10.00 น. นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  (มท.3) พร้อมคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตและแปรรูปการผลิต (ยางพารา) กิจกรรมย่อย การเพิ่มมูลค่าจากน้ำยางสด (โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา) บ้านตาลเดี่ยว ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ ก่อนจะเดินทางไปประชุมสรุปผลการตรวจติดตาม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสะอาด โดยมีนายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ธนารักษ์พื้นที่  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบึงกาฬ การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ นายอำเภอเซกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและนำเสนอข้อมูล 



จากการลงพื้นที่และการประชุมสรุปผลการติดตามการดำเนินงานโครงการฯ สืบเนื่องจากกรณีเรื่องร้องเรียนในรายการข่าว 3 มิติ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กรณีการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัติกรรมเพื่อการผลิตและแปรรูปการผลิต (ยางพารา) กิจกรรมย่อย การเพิ่มมูลค่าจากน้ำยางสด (โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา) ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้มอบอำนาจให้จังหวัดบึงกาฬดำเนินงานโครงการ งบประมาณกลุ่มจังหวัดเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบประมาณ 193,947,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแปรรูปยางพาราที่มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่าความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จากยางพาราในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยจังหวัดบึงกาฬได้มอบอำนาจให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ โดยมีการก่อสร้างที่ล่าช้าและอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารโรงงานยางแผ่นรมควัน จำนวน 3 หลัง และรายการครุภัณฑ์โรงงานยางแผ่นรมควัน จำนวน 6 รายการ ทั้งนี้ ยังมีกรณีงบประมาณพับไปเนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างได้ทันภายในเดือนกันยายน 2560 จำนวน 1 รายการ ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสีย งบประมาณ 4,000,000 บาท ซึ่งขณะนี้อาคารโรงงานทั้ง 3 หลัง ดังกล่าว กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามสัญญาภายในเดือนกันยายน 2563 

สำหรับสถานที่ที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารโรงงาน มีทั้งหมด 8 หลัง ก่อสร้างบนแปลงที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เนื้อที่ 37 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา โดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ได้ทำหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เพื่อก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยสำนักงานธนารักษ์พื้นที่บึงกาฬได้ขึ้นทะเบียนอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างไว้ พร้อมได้อนุญาตให้ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เช่าอาคารโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยให้ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขของกรมธนารักษ์ 

จากการตรวจสอบอาคารโรงงานทั้ง 5 หลัง ยังไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ เนื่องจากระบบบำบัดน้ำเสีย ตามโครงการ ฯ ได้ถูกยกเลิกไปเพราะไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันภายในเดือนกันยายน 2560 จึงทำให้โรงงาน  ทั้ง 5 หลัง ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งยังไม่มีระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าหน่วยย่อยที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่โรงงาน ซึ่งทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าว ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขโดยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากการยางแห่งประเทศไทย 

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มท. เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างโรงงานตามโครงการฯ เห็นถึงวัตถุประสงค์ของโครงการที่หากดำเนินงานได้จริง ก็จะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ปัจจุบันยังคงมีปัญหาหลายด้าน การใช้งบประมาณแผ่นดินทุกบาททุกสตางค์ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ และถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การดำเนินการตามโครงการนี้ พบเห็นปัญหาที่แต่ละส่วนราชการต้องเข้ามาตรวจสอบแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือให้ลุล่วงไป การจะดำเนินการต่อไปทั้งการก่อสร้าง การผลิต จำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬเองต้องมีความพร้อมในการบริหารจัดการ มีความเป็นมืออาชีพที่สมาชิกไว้วางใจให้บริหารได้ อันจะเป็นผลดีโดยรวมต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ที่ลงพื้นที่มาตรวจสอบครั้งนี้ มิได้มาตรวจจับผิดแต่มาตรวจติดตามเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ที่ผิดก็ต้องดำเนินการ แต่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องให้ข้อเท็จจริงว่าเกิดปัญหาที่จุดใดเพื่อส่วนราชการจะได้แก้ไขปัญหาให้ถูกต้องร่วมกัน สำหรับด้านผลิตภัณฑ์ยางพารา หากจะผลิตสินค้าจำพวกที่นอน หมอน ก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐาน และช่องทางการตลาดที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ นอกจากนั้นแล้ว ได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมที่มีงบประมาณในการดำเนินการจัดซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬและใกล้เคียงเพื่อนำมาผลิตแบริเออร์หุ้มยางพารา และหลักนำทางยางพารา ซึ่งเป็นโครงการดำเนินการถึงปีงบประมาณ 2565 โดยจากการคำนวณแล้วจะมีเม็ดเงินกลับถึงมือเกษตรกรถึง 70%

โดยในที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบึงกาฬเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน การเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้กับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ในการจัดทำแผนธุรกิจ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการ การเช่าโรงงานจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่บึงกาฬ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทางราชการ รวมถึงส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปติดตาม เร่งรัดดำเนินการ และบูรณาการความร่วมมือในการส่งเสริม สนับสนุนให้การดำเนินงานตามโครงการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการต่อไป







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.