เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สุรินทร์ วิกฤตภัยแล้ง!! "อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงน้ำแห้งขอด" หนักสุดในรอบ 30 ปี หวั่นกระทบคนเมือง หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหา


14 ก.ค. 2562, 17:11



สุรินทร์ วิกฤตภัยแล้ง!! "อ่างเก็บน้ำห้วยเสนงน้ำแห้งขอด" หนักสุดในรอบ 30 ปี หวั่นกระทบคนเมือง หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหาทางแก้ปัญหา




วันนี้ (14 ก.ค. 2562) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ONB news รายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ขณะนี้พบว่าสถานการณ์ยังคงรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ฝนที่ทิ้งช่วงมาร่วม 2 เดือน ส่งผลให้ต้นกล้าข้าวเริ่มทยอยเหี่ยวเฉายืนต้นตายกันทุกพื้นที่ แม้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มาบินโปรยสารเคมีเพื่อทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบว่ามีฝนตกลงมาไม่มากเท่าที่ควร ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง (ห้วย-สะ-เหน่ง) ต.เฉนียง (ฉะ-เนี๋ยง) อ.เมือง จ.สุรินทร์ ถึงขั้นวิกฤติหนัก น้ำแห้งลง ลดระดับลงมากที่สุดในรอบ 30 ปี ตั้งแต่มีการสร้างและเปิดใช้อ่างเก็บน้ำเป็นต้นมา และเป็นอ่างเก็บน้ำหัวใจหลักของคนเมืองสุรินทร์ ที่จะต้องใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาถึงเดือนละ 1 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พบว่าประมาณน้ำลดลงเหลือเพียงไม่ถึง 2 ล้าน ลบ.ม. และจะสามารถใช้น้ำได้อีกประมาณไม่เกิน 2 เดือนข้างหน้าเท่านั้น จากความจุอ่างทั้งหมด 20.8 ล้าน ลูกบาศก์เมตร


อ่างเก็บน้ำที่แห้งขอดดังกล่าว ส่งผลให้มีฝูงนกกระสา ต่างพากันอพยพ บินเข้ามาหากินสัตว์น้ำตามแหล่งน้ำที่แห้งขอดนับพันตัว อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนอีกด้วยสถานการณ์น้ำที่ใกล้วิกฤติหนักดังกล่าว ส่งผลให้การประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุรินทร์ ดังกล่าว จำเป็นต้องออกประกาศให้ประชาชนสำรองน้ำไว้และใช้น้ำอย่างประหยัด โดยจะมีการลดแรงดันน้ำลง จะส่งผลกระทบให้น้ำไหลอ่อนและไม่ไหลในบางช่วงเวลา

ขณะที่กระแสในโลกโซเชียลเริ่มตื่นตัวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และต่างเริ่มหวั่นวิตกเกรงจะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมือง เริ่มมีการแชร์ข้อมูลข่าวสารตามเพจต่างๆ และวิพากวิจารณ์ถึงสถานการณ์ภัยแล้งอย่างกว้างขวางไปต่างๆ นานา ขณะเดียวกันก็ยังมีกระแสวิพากวิจารณ์ไปถึง นายประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการ จ.สุรินทร์ ที่พึ่งย้ายมารับตำแหน่งได้ประมาณ 1 ปี และอีก 2 เดือนหน้าก็จะเกษียณอายุราชการแล้ว ประชาชนสงสัย และไม่พบว่ามี ผู้ว่าราชการจังหวัด ออกมาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ให้ชาวบ้าน ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งในครั้งนี้ เหมือนผู้ว่าจังหวัดอื่นๆ สวนทางกับสโลแกนที่ระบุไว้ว่า “คิดไม่ออกบอกผู้ว่าประภัสสร์ เป้าหมายในการทำงาน ทำงานให้ประชาชนมีความสุข ประชาชนชื่นใจ” 

ขณะที่ทหาร อบจ.สุรินทร์ เร่งหาแนวทางให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหา น้ำประปาไหลเบา และหยุดไหลบางช่วง โดยเฉพาะพลตรีพิเชษฐ์ อาจฤทธิรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จ.สุรินทร์ ที่ได้ขอความร่วมมือจาก นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส.ส.สุรินทร์ เขต 1 นายประเทือง วันดี ผอ.โครงการชลประทานสุรินทร์ และนายวิทยา อัปมาโถ หน.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ นายกกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายก อบจ. สุรินทร์ ได้นำเครื่องจักร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เข้าทำการขุดลอกดินให้มีความลึก เพื่อใช้กักเก็บน้ำให้ได้มากขึ้น เมื่อมีฝนตกลงมา รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนเมืองสุรินทร์ ประสานหน่วยงานต่างๆ ขุดร่องน้ำที่มีอยู่ในแอ่งต่างๆ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงให้ไหลไปรวมกันที่บริเวณเครื่องสูบน้ำทำน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาสุรินทร์ ขอรับการสนับสนุนฝนหลวงในการทำฝนเทียมเพิ่มปริมาณฯ ในอ่างเก็บน้ำ และเหนืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ได้ขึ้นบินทำฝนเทียมทุกวันๆ ละ 2-3 เที่ยวมาร่วม 2 สัปดาห์แล้ว

 


 

ขอให้ทุกหน่วยงานที่มีเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ได้เตรียมพร้อมเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ทั้งการขุดบาดาล โดยรอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อสูบน้ำเข้าอ่าง และหาแหล่งน้ำดิบจากแหล่งอื่นๆ ที่มีโดยรอบอ่างเก็บน้ำเพื่อผันน้ำมาช่วย เช่น อ่างน้ำตาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ จากฝายขั้นน้ำลำชี บริเวณบ้านใหม่ และน้ำจากบ่อระเบิดหินจากเขาสวาย เป็นต้น และที่สำคัญให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง ไม่ต้องตื่นตระหนกกับวิกฤติในครั้งนี้ เนื่องจากทุกภาคส่วนได้มีแนวทางและการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะสามารถมีน้ำประปาใช้ไปจนผ่านวิกฤติหรือจนกว่าฝนจะตกลงมาตามฤดูกาล แต่ที่สำคัญขอความร่วมมือประชาชนได้ใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด
 

 




 







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.