เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ศธ. เตรียมกล่องส่งสัญญาณ 2 ล้านกล่อง เพื่อแจก สำหรับเรียนออนไลน์


22 พ.ค. 2563, 16:47



ศธ. เตรียมกล่องส่งสัญญาณ 2 ล้านกล่อง เพื่อแจก สำหรับเรียนออนไลน์




 


กรณีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมมือกับมูลนิธิ​การศึกษา​ทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กำหนดส่งสัญญาณโทรทัศน์ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวให้พร้อมรับเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 หากพบว่าไม่สามารถเรียนที่โรงเรียนได้ จะทำการเรียนการสอนผ่านช่องทางออนแอร์และอาจจะสอนเสริมด้วยออนไลน์ ในโรงเรียนที่มีความพร้อม

 

 



โดยวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมาพบปัญหาหลายอย่าง เช่น เว็บไซต์ของดีแอลทีวีล่ม ไม่สามารถรับสัญญาได้ ปรับจูนสัญญาณไม่ได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ลงพื้นที่รวบรวมปัญหามาให้ สพฐ. จะดำเนินการแก้ไข

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ผ่านมา 4 วันแล้วในการส่งสัญญาณโทรทัศน์เพื่อให้นักเรียนเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ปัญหาที่พบหลักๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อุปกรณ์ไม่มีความพร้อม และมีปัญหากับการเชื่อมต่อ ซึ่งปัญหาการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

สามารถส่งนักศึกษาเข้าไปช่วยเหลือปรับจูนสัญญาณได้ ส่วนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ศธ.จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ได้เตรียมกล่องส่งสัญญาณไว้รองรับจำนวน 2 ล้านกล่อง เพื่อแจกให้กับประชาชนที่ไม่มี หรือจำเป็นต้องใช้จริงๆ
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังกังวลว่า หากจะดูสื่อการสอนผ่านโทรทัศน์แล้ว อาจต้องใช้เครือข่ายดิจิทัล หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการดูสื่อ ซึ่งจะไปกระทบกับการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ปกครองและนักเรียน เพราะถ้าเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ขึ้นมาอีกครั้ง และนักเรียนจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น

ซึ่งในกระบวนการทั้งหมดในการเตรียมความพร้อมเปิดเทอม ตนไม่อยากให้เกิดภาระอะไรกับผู้ปกครอง เพราะทุกคนอยู่ในช่วงที่ลำบาก ศธ.จะหาวิธีการแก้ไขต่อไป และยังพบความยากลำบากของครูที่เพิ่มขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นภาระที่ครูไม่คุ้นเคย ซึ่งตนเน้นย้ำกับครูแล้วว่าภาระที่เกิดขึ้นกับครู เหมือนภาระที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทุกคนที่ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ไม่คุ้นเคย

"ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าเราต้องมีความระมัดระวังในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยนำตัวอย่างจากหลายประเทศมาประกอบการตัดสินใจ แต่ต้องปรับให้ตรงกับบริบทและความต้องการของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลที่จะต้องมีความครบถ้วนมากกว่านี้จึงจะหาทางแก้ไขปัญหาได้ ขณะนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวมปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข" 


ภาพ Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.