เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มท.2 ลุยแก้ปัญหาภัยแล้ง "แปดริ้ว-ปราจีนฯ" ประสานกรามชลฯ เร่งโครงการป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่


17 เม.ย. 2563, 16:30



มท.2 ลุยแก้ปัญหาภัยแล้ง "แปดริ้ว-ปราจีนฯ" ประสานกรามชลฯ เร่งโครงการป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่




วันนี้ (17 เม.ย.63 )  เมื่อเวลา 10.00 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) และคณะลงพื้นที่แปลงนาข้าว ของเกษตรกร ที่หมู่ 2 บ้านทางเกวียน ตำบลบางผึ้ง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับเสียหายจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ เป็น 1 ใน 24 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัยและเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิและศรีสะเกษ ภาคกลาง 7 จังหวัดได้แก่  นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี  ฉะเชิงเทราและปราจีนบุรี ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ซึ่งนาข้าวได้รับความเสียหาย และได้รับเงินชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ.2562 ไปแล้ว เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที



สำหรับพื้นที่ดังกล่าวอยู่บริเวณด้ายซ้ายของแม่น้ำบางปะกง เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ทำให้เกิดสภาพดินเค็ม ไม่สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งต้องอาศัยน้ำจืดจากแม่น้ำบางปะกงในการทำการเกษตร แต่สถานการณ์ปริมาณฝนเมื่อปลายปี 2562 มีปริมาณน้อยกว่าปี 2561 ประกอบกับน้ำจืดของแม่น้ำบางปะกงมีแค่ 3 เดือน (ส.ค.- ต.ค.) ทำให้ไม่มีน้ำจืดไว้ใช้ทำนาข้าว ส่งผลต่อนาข้าวส่วนใหญ่ยืนต้นตาย

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดฉะเชิงเทราได้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมทั้งจิตอาสาต้านภัยแล้ง ได้ดำเนินเพื่อแก้ไขปัญหาแล้งในพื้นที่ประกอบด้วย การแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภค การขุดลอกคลองไส้ไก่เข้าแปลงนาเกษตรกร การขุดหลุมขนมครกในคลอง เป็นต้น เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่

นิพนธ์ มท.2 กล่าวว่า ในส่วนของการเสนอโครงการเพื่อให้การช่วยเหลือในระยะยาว ตามที่เกษตรกรและองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องการนั้น ตนจะรับไปดำเนินการเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกรมชลประทานเพื่อเร่งให้มีการออกมาสำรวจความเป็นไปได้และเร่งรัดให้ดำเนินการทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกร พร้อมทั้ง เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้จะเป็นตรวจติดตามการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งหลังจากที่มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งเป็นการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของการบูรณาการปฏิบัติงานของ จนท. การบูรณาการสั่งใช้เครื่องจักรในหน่วยงานที่กำกับเพื่อช่วยเหลือแก้ไข 

ซึ่งตนในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อยู่นั้น มีภารกิจโดยตรงในการป้องกันดูแลพี่น้องประชาชนจากสาธารณภัยต่าง ๆ ซึ่งภัยแล้งก็เป็นเรื่องที่ประสบปัญหามาโดยตลอด จากสภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ขณะเดียวกันในหลายจังหวัดทราบว่าปริมาณฝนคาดการณ์ว่าน้อยกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องไปจัดการแก้ไข พร้อมทั้งการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวม  ซึ่งตนก็ได้กำชับและติดตามเพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างครอบคลุมทั้งภัยแล้ง อุทกภัย และภัยสาธารณะต่าง ๆ อย่างเรื่องปริมาณน้ำฝนทำอย่างไรเมื่อในมีฝนตกลงมากให้มีที่กักเก็บน้ำ (ทำที่ให้น้ำอยู่-ทำทางให้น้ำไหล) ไม่ให้ไหลเข้าท่วมพื้นที่สำคัญและไว้ใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งปีถัดไปให้ได้ สิ่งนี้คือจุดสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนได้ทั้งระบบ







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.