เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จุฬาฯ ดีเดย์ 30 มี.ค. ใช้ชุดทดสอบ คัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ


27 มี.ค. 2563, 11:52



จุฬาฯ ดีเดย์ 30 มี.ค. ใช้ชุดทดสอบ คัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ




 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนา Chula COVID-19 Strip Test ชุดตรวจผลเลือดเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19  หรือไม่ ด้วยวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว พร้อมให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์รับมือและวินิจฉัย COVID-19 อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย Chula COVID-19 Strip Test เป็นชุดทดสอบที่คิดค้นโดยอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ การทดสอบอาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology Test) ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม หรือพลาสมา ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีในการตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองเบื้องต้น สามารถตรวจได้ที่จุดให้บริการผู้ป่วย

ผู้สนใจเข้ารับการตรวจด้วย Chula COVID-19 Strip Test เริ่มต้นจากการลงทะเบียนทางออนไลน์ผ่าน Application ที่  http://covid19.thaitechstartup.org/  เพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากมีความเสี่ยงมากหรือปานกลาง จะได้รับการแจ้งนัดหมายให้มารับบริการที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ซึ่งจะมีการจัดลำดับการให้บริการและวิธีเข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการสุขภาพฯ อย่างปลอดภัยตามมาตรการ Social Distancing รวมทั้งมีระบบรองรับในการให้คำปรึกษา  ในกรณีที่มีผลการตรวจเลือดเป็น Positive  (ติดเชื้อ) ก็จะมีช่องทางที่รวดเร็วในการส่งไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้งที่โรงพยาบาลต่อไป

          ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า Chula COVID-19 Strip Test ใช้วิธีทดสอบด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว จึงทำให้ในการตรวจวินิจฉัยมีความปลอดภัย ไม่ต้องใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม Chula COVID-19 Strip Test ไม่ได้นำมาทดแทนการตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีมาตรฐาน แต่หวังว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาจำนวนคนไข้ที่ต้องมารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ถ้ามีผลเลือดเป็น Negative  และไม่มีความเสี่ยง ก็จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล

 



ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ  รองเลขาธิการแพทยสภา  ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเตือนว่า

"Rapid test ของจุฬา" ที่เปิดตัวใหม่ น่าสนใจ เป็นการตรวจจากเลือด ใช้เวลาสั้น ยังมีข้อจำกัดมาก!!

ปัญหาคือต้องสื่อสารให้ ประชาชนเข้าใจ ว่าเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน จากเลือด ไม่ใช่จากเชื้อที่โพรงจมูก แบบที่ทางกรมควบคุมโรคทำอยู่ (ซึ่งใช้เวลานาน และทำได้น้อย) ถือว่ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทีเดียวแต่อาจสับสนครับ

ข้อจำกัดการตรวจภูมิคุ้มกันคือ จะขึ้นที่หลังติดเชื้อ และเชื้อหมดไปแล้วภูมิคุ้มกันยังอยู่ เกิดผลบวกได้ ทำให้งง

Positive (ผลบวก) คือมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ
1- มีเชื้อในตัวและอยู่ในระยะที่ แพร่เชื้อได้ โดยในช่วงต้นอาจจะไม่มีอาการ หรืออาการเพียงเล็กน้อยได้

2- ไม่มีเชื้อ คือเชื้ออาจหมดไปแล้ว ไม่สามารถแพร่เชื้อ แต่ยังมีภูมิคุ้มกัน อยู่ในกระแสเลือด ซึ่งการตรวจเชื้อต้องใช้แลบใหญ่ ช่วยยืนยัน

Negative (ผลลบ)คือ ไม่พบภูมิคุ้มกัน ในกระแสเลือด

1-ไม่พบภูมิคุ้มกัน เพราะไม่เคยติดเชื้อ และปลอดภัยไม่แพร่เชื้อ แต่จะรับเชื้อใหม่ได้ถ้าสัมผัส ผู้มีโรค ควรจะต้องเป็นผู้สบายดีไม่มีประวัติ สัมผัส และไม่มีอาการ ป่วยไข้ใดๆ

2-ไม่พบภูมิคุ้มกัน แต่มีเชื้อ ในโพรงจมูก พบได้ในช่วงต้นที่ภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้นพอให้ตรวจพบได้ และสามารถแพร่เชื้อได้ เพื่อความแม่นยำต้องซักประวัติ และดูอาการร่วมด้วย ถ้ามีอาการ ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป หรือส่ง lab ใหญ่ ถ้าผลยังเป็นลบถึงเชื่อถือได้

** ที่สำคัญยังไม่มี test ใดได้ 100% ความแม่นยำเขียนชัดเจน 80-95% แสดงว่า ยังมีบางส่วนที่ตรวจไม่ได้ ต้องเข้าใจ ข้อเท็จจริงอันนี้ก่อนนะครับ และแน่นอนว่าแม้มีประโยชน์มากสำหรับวงการแพทย์ แต่ขอให้แปลให้ถูก อย่าทักว่าผลลบแล้วไม่ป่วย เพราะต้องติดตามต่อก่อน จนปลอดภัยจริงครับ**

อย่าซื้อตรวจเอง อันตรายครับ


 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.