เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"แม่ทัพภาคที่ 1" เป็นประธานทำบุญ เนื่องในวันคล้าย “วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า" ครบรอบ 234 ปี


18 ก.พ. 2563, 08:37



"แม่ทัพภาคที่ 1" เป็นประธานทำบุญ เนื่องในวันคล้าย “วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า" ครบรอบ 234 ปี




ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่บริเวณพระบวรราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ในรัชการที่ 1 ภายในกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี  พลโทธรรมนูญ  วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธานเนื่องในวันคล้าย วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า ครบรอบ 234 ปี  พร้อมด้วยนายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พลตรีฐกัด หลอดศิริ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 พลตรีวสุ เจียมสุข ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 17   ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับการหน่วย นายทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาญจนบุรี  และแม่บ้านกองพลทหารราบที่ 9  เข้าร่วมในพิธีฯ

ทั้งนี้ ได้มีการพิธีถวายราชสักการะและพิธีสงฆ์ เพื่อบําเพ็ญกุศลถวายแด่ดวงพระวิญญาณ   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 ตลอดจนนักรบผู้กล้าหาญในอดีต เนื่องในวันคล้าย วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า ครบรอบ 235ปี

กองพลทหารราบที่ 9 ได้จัดงานวันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า ขึ้นทุกปี เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษของไทยเราที่ได้แสดงความห้าวหาญสามารถรบชนะข้าศึกพม่า ที่มีกำลังพลมากกว่าฝ่ายไทยเราถึง 3 เท่า โดยวีรกรรมครั้งนั้นคือ สงคราม 9 ทัพ  ซึ่งกองทัพพม่ามีพระเจ้าผดุงเป็นแม่ทัพจัดกำลังพล 144,000 คน แบ่งออกเป็น 9 ทัพหวังจะปราบไทยให้ราบคราบ โดยเข้าตีไทยทางด้านใต้ 2 กองทัพ มีกำลังพล 20,000 คน เข้าตีทางด้านเหนือ 2 กองทัพ มีกำลังพล 35,000 คน ที่เหลือพระเจ้าผดุงคุมกำลังพล 5กองทัพ มีจำนวนกำลังพล 89,000 คน เข้าตีทางด้านตะวันตก โดยเคลื่อนที่ผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ มุ่งสู่ทุ่งลาดหญ้า  ส่วนกองทัพไทยโดยการนำของ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีงหนาท คุมกำลังเพียง 30,000 คน เข้าต่อสู่กับทหารพม่าที่มีกำลังเหนือกว่า โดยใช้หลักสงครามในการนำทัพแบบการเดินทัพด้วยทางเส้นใน โดยส่งกำลังพลเท่าที่จำเป็นไปประวิงข้าศึกด้านอื่นๆไว้ แล้วส่งกองทัพใหญ่เข้าโจมตีกองกำลังข้าศึกที่อยู่ใกล้ที่สุด และเป็นอันตรายมากที่สุด

จากความที่เป็นผู้ที่มีความเด็ดขาดในสนามรบ จึงทำให้มีความชนะต่อทหารพม่าของข้าศึกได้  ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2328 ศึกทุ่งลาดหญ้าครั้งนี้ นับว่าเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่ง ที่ชาวไทยควรสำนึก และตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ถึงวีรกรรมอันกล้าหาญ หลักแหลมวิทยาการ เสียสละทั้งร่างกายชีวิตและจิตใจ และดวงวิญญาณของวีรบุรุษ วีรชนไทยในครั้งนั้นเป็นเดิมพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จอมทัพไทยแห่งทุ่งลาดหญ้า นับได้ว่าเป็นมหาวีรบุรุษ ผู้ทรงพระเดชานุภาพของชาติไทยท่านหนึ่งโดยแท้ สมควรที่ชาวไทยจะต้องเทิดทูน พระวีรกรรมของพระองค์ท่านตลอดไป

     

ประวัติ...สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และ พระเจ้าหลานเธอองค์เจ้าขุนเณรเกี่ยวข้องกับจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะที่เป็นวีรบุรุษที่สำคัญยิ่งในยุทธภูมิทุ่งลาดหญ้าครั้งสงครามเก้าทัพ เมื่อ พ.ศ. 2328 ซึ่งในสงคราม ครั้งนั้นพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ได้ยกทัพมามีจำนวนพลถึง 144,000 จัดเป็นกระบวนทัพ 9 ทัพ แยกย้ายกัน เข้ามาตีไทยทั้งทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายตะวันตกและกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพที่ยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ ซึ่งเข้ามาทางด่านพรเจดีย์สามองค์ ทางชายแดนตะวันตกนั้นมีกำลังพล

 ถึง 55,000 และมีพระเจ้าปะดุงเป็นจอมทัพ ฝ่ายไทยเมื่อทราบข่าวศึกด็วางแผนต่อสู้ โดยจัดกองทัพออกไปสกัดกองทัพพม่าไว้ 3 ทาง คือ

ทัพที่ 1 เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (กรมพระราชบวรสถานพิมุข) ถือพล 15,000 ไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ คอยป้องกันมิให้พม่าที่ยกทัพลงมาทางข้างเหนือล่วงเลยเข้ามาถึงกรุงเทพฯได้ ในช่วงเวลาที่กำลังต่อสู้ข้าศึกทางเมืองกาญจนบุรี

ทัพที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเสด็จเป็นจอมทัพถือพลจำนวน 30,000 ไปตั้งรับพม่าที่เมืองกาญจนบุรี (เก่า)คอยต่อสู้กองทัพพระเจ้าปะดงที่จะยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ทัพที่ 3 เจ้าพระยาธรรมมาธิบดี (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราชถือพล 5,000 ไปตั้งรับพม่าที่เมืองราชบุรี คอยต่อสู้พม่า ซึ่งจะยกทัพเข้ามาทางใต้หรือทางเมืองทะวาย

ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงคุมกำลังไพร่พลประมาณ 20,000 เศษ เป็นกองทัพหลวงเตรียมไว้ในกรุงเทพฯ ถ้าหากกำลังข้าศึกบุกหนักทางด้านไหนก็จะได้ยกไปช่วยได้ทันที สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เสด็จยกกองทัพออกไปตั้งรับกองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี) โดยตั้งค่ายหลายค่ายชักปีกกาถึงกันทุกค่าย และให้ขุดสนามเพลาะปักขวากหนามไว้ด้วย แล้วทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญ 3,000 ยกออกไปตั้งค่ายขัดตาทัพพม่าอยู่ทางด่านกรามช้างอันเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่กองทัพพม่าซึ่งยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ได้ยกทัพหน้าเดินเรื่อยมาและเข้าโจมตีกองทัพมอญที่ด่านกรามช้างแตกพ่ายถอยร่นเข้ามายังค่ายที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพพม่าได้ยกติดตามเข้ามา และปะทะกับกองทัพไทยที่ตั้งค่ายอยู่ ที่ทุ่งลาดหญ้า กองทัพพม่าจึงได้หยุดยั้งตั้งค่ายอยู่บริเวณชายทุ่งลาดหญ้านั่นเอง ส่วนกองทัพหนุนของพม่าที่ยกตามมาก็หยุดยั้งตั้งค่ายเป็นระยะ ๆ ที่ท่าดินแดง สามสบและบริเวณชายแดน ซึ่งได้รับความลำบากมาเในเรื่องการส่งและจัดหาเสบียงอาหารจากแดนพม่าข้ามภูเขาและบุกป่าฝ่าดงเข้าส่งให้กับทุกกองทัพ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ให้ทหารออกไปโจมตีค่ายพม่า แต่พม่าก็ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง พลทหารไทยและพม่าต่างยิงโต้ตอบกันทั้งสองฝ่าย ทำให้บาดเจ็บล้มตายลงทั้งสองข้าง ทัพไทยหักเอาค่ายได้ก็ถอยเข้าค่ายทหารทั้งปวงเกิดความหวาดหวั่นในการสู้รบกับพม่า สมเด็จพระบวรราชมหาสุรสิงหนาท ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดของแม่ทัพจึงสั่งให้ทำครกขนาดใหญ่ไว้ในค่ายแล้วประกาศว่า  ถ้าใครถอยหนีแก่พม่าข้าศึกจะเอาตัวลงครกโขลกเสีย บรรดาทหารทั้งปวงกลัวจับลงครกโขลกให้ตายทั้งเป็นจึงต่อสู้กับพม่าอย่างไม่เสียดาย-ชีวิต

นอกจากนี้ ยังทรงตั้งกองโจรให้พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาเพชรบุรี ทั้งสามนายเป็นนายทัพกองโจร และให้พระยารามคำแหง พระยาเสนานนม์เป็นปลัดทัพ ถือพล 500 ยกทัพกองโจรลัดป่าไปคอยซุ่มสกัด คอยตีกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าที่พุไคร้ ทางลำน้ำแควไทรโยค แต่นายกองโจรทั้งสามนายอ่อนแอ และย่อท้อได้หลบหนีไปซุ่มตั้งทัพอยู่ที่อื่น สมเด็จพระบวรราชเจ้าสุรสิงหนาท จึงดำรัสสั่งให้ประหารชีวิตนายทัพกองโจรทั้ง - สามนาย แล้วนำศีรษะไปเสียบประจานไว้หน้าค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้า ส่วนปลัดทัพสองนายนั้นก็ให้เอาดาบสับศีรษะคนละ 3 เสี่ยง เป็นการลงโทษไม่ให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แล้วให้พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นนายทัพกองโจรกับข้าหลวงหลายนาย ถือพล 1,000 ยกไปบรรจบกองโจรเดิม อีก 500 รวมเป็น 1,500 ไปคอยสกัดกองลำเลียงพม่าที่พุไคร้ มิให้ส่งกองลำเลียงเสบียงอาหาร ถึงกันได้ กองทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้าจะได้ขาดเสบียงอาหารและอ่อนกำลังลง พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณร ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง จับได้พม่า ช้าง ม้า และโค ต่าง ๆ ส่งมายังค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าอยู่เนือง ๆ ฝ่ายแม่ทัพหน้าพม่าทั้งสองนายที่ตั้งค่ายอยู่ที่ชายทุ่งลาดหญ้า ได้แต่งหอรบขึ้นที่ค่ายหน้าหลายแห่ง แล้วให้เอาปืนใหญ่ตั้งขึ้นบนหอรบยิงค่ายกองทัพไทย

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ก็ให้เอาปืนลูกไม้แต่ครั้งกรุงธนบุรี (ปืนใหญ่ที่ใช้ท่อนไม้เป็นกระสุน) เข็นออกมาตั้งหน้าค่ายยิงค่ายและหอรบพม่าพังลงหลายแห่งทำให้ไพร่พลบาดเจ็บล้มตาย จนพม่าครั่นคร้ามไม่กล้าออกมาโจมตีค่ายไทยทั้งเสบียงอาหารก็ขาดแคลนลง ในขณะที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสู้รบกับพม่าติดพันกันอยู่ ที่ทุ่งลาดหญ้านั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปริวิตกเกรงว่ากำลังไพร่พลจะไม่พอตีทัพพม่าให้แตกพ่ายไป จึงเสด็จยกกอวทัพหลวงหนุนไปจากกรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2328 เมื่อเสด็จไปถึงค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าก็ทรงปรึกษาราชการสงคราม สมเด็จพระบวนราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กราบทูลว่าพม่าอดอยากมากอยู่แล้วขออย่าได้ทรงพระวิตกถึงการรบที่ทุ่งลาดหญ้าเลย พม่าคงจะแตกพ่ายไปในไม่ช้านี้อย่างแน่นอนขอให้เสด็จกลับคืนพระนครเถิด เผื่อข้าศึกจะหนักแน่นมาทางอื่นจะหนุนกันได้ทันท่วงที

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นชอบด้วยจึงเสด็จยกกองทัพหลวงคืนพระนคร ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท ทรงทำกลอุบายลวงข้าศึกว่ากองทัพไทยมีกำลังไพร่พลและศาสตราวุธมาหนุนเนืองเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งกำลังพลในกองทัพให้ลอบออกจากค่ายในเวลากลางคืนอย่างเงียบและไปให้ไกลพอควร ครั้นรุ่งเช้าก็ยกกระบวนเดินพลช้างม้าเรียงรายเนืองกันขึ้นไปอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่เช้าจนเย็นเพื่อกลับเข้าค่าย สมเด็จกรมพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงทำกลลวงข้าศึกเช่นนี้อยู่หลายวัน พม่าซึ่งอยู่ที่สูงกว่าและเห็นก็เข้าใจว่ากองทัพไทยได้กำลังเพิ่มเติมเสมอก็ยิ่งครั่นคร้ามมากขึ้น และบังเอิญรี้พลของพม่าเกิดเจ็บป่วยด้วยไข้ทรพิษ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสังเกตเห็นว่ากองทัพพม่าอดอยากและครั่นคร้ามมากแล้ว จึงสั่งให้ไพร่พลเจ้าโจมตีค่ายพม่าพร้อมกันทุกค่ายในเวลาเดียวกัน เมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง ซึ่งตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2328 ฝ่ายพม่าพยายามสู้รบอยู่ตั้งแต่ช้าจนค่ำครั้นเวลาประมาณทุ่มเศษ แม่ทัพพม่าเห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็แตกฉานออกจากค่ายหนีไป ไทยได้ค่ายพม่าหมดทุกค่ายจับไพร่พล และเครื่องศาสตราวุธ ปืนใหญ่น้อยได้เป็นอันมาก ส่วนพระองค์เจ้าขุนเณรซึ่งเป็นนายทัพกองโจรเมื่อทราบว่าทัพพม่าแตกพ่ายแล้วก็นำกองโจรออกสกัดตีซ้ำเติม จับได้ผู้คนเครื่องศษสตรวุธ ช้าง ม้า ส่งเข้ามาถวายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามาหสุรสิงหนาท ณ ค่ายหลวงที่ทุ่งลาดหญ้าเป็นอันมาก ครั้งพระเจ้าปะดงทรงทราบว่ากองทัพหน้าแตกกลับไปก็เห็นว่าจะทำการสู้รบต่อไปไม่สำเร็จ จึงสั่งให้เลิกทัพออกไปเมืองเมาะตะมะอย่างรวดเร็ว สงครามที่ทุ่งลาดหญ้าคราวนี้ไทยกับพม่าสู้รบขับเคี่ยวกันมาเป็นเวลาประมาณสองเดือนเศษ ผลขอสงครามนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพม่าเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน และการประสบชัยชนะอย่างงดงามของกองทัพไทยนั้น ก็เป็นผลเนื่องมาจากความเข้มแข็งความห้ามหาญเด็ดเดี่ยว และความมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมีไหวพริบปฏิภานในด้านกลศึกอย่างลึกซึ่ง ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประการหนึ่ง อักประการหนึ่งก็เป็นผลเนื่องมาจากวีรกรรมอันห้าวหาญของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณร ผู้มีสายเลือดนักรบอันเข้มข้น ที่ได้นำทหารกองโจรออกซุ่มสกัดกองลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าอย่างไม่หวาดหวั่น จนทำให้กองทัพพม่าที่ทุ่งลาดหญ้าต้องอ่อนกำลังลงเพราะขาดเสบียงอาหาร และประการสุดท้ายก็คือชาวกาญจนบุรี เป็นจำนวนมากภายใต้การนำของเจ้าเมืองกาญจนบุรีหรือพระยากาญจนบุรี ก็ได้เป็นกำลังอันสำคัญในการต่อสู้กับพม่าข้าศึกอย่างเข้มแข็งด้วย ดังนั้นเราจึงควรภูมิใจในวีรกรรมของบรรพบุรุษของเราที่ได้พยายามปกป้องผืนแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักและหวงแหนของเราไว้ได้ และจากสมครามคราวนี้เองได้ทำให้ชื่อเสียงของทุ่งลาดหญ้าจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาวไทยตั้งแต่นั้นมา

จึงนับได้ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าขุนเณรเป็นวีรบุรุษแห่งยุทธภูมิทุ่งลาดหญ้า และเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีด้วย และปัจจุบันนี้กรมทหารราบ กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายกาญจนบุรี ได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

ในลักษณะทรงยืนถือพระแสงดาบกำลังบัญชาการรบอยู่ ประดิษฐานไว้ที่หน้ากองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 และจัดงานวันชนะศึก ณ ยุทธภูมิทุ่งลาดหญ้า เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ถึง 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526  เพื่อเป็นเกียรติประวัติของกองทัพไทยและชาวเมืองกาญจนบุรี

 

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.