เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ.กาญจนบุรี ร่วมรายการ “ผู้ว่าการขานข่าว สวท.กจ.” เรื่อง ฝุ่นละออง PM2.5 และโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019


7 ก.พ. 2563, 15:19



สธ.กาญจนบุรี ร่วมรายการ “ผู้ว่าการขานข่าว สวท.กจ.” เรื่อง ฝุ่นละออง PM2.5 และโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019




วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดกาญจนบุรี กรมประชาสัมพันธ์ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นพ.สุรวิทย์  ศักดานุภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมรายการ “ผู้ว่าการขานข่าว สวท.กจ.” เรื่อง ฝุ่นละออง PM2.5 และโรคโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแก้ไขปัญหา มีประกาศจังหวัด เรื่อง การกำหนดพื้นที่และมาตรการควบคุมผลกระทบดังกล่าว 4 มาตรการ ได้แก่

 1.มาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด

 2.มาตรการด้านการบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาล

 3.มาตรการด้านสาธารณสุขรองรับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5

 4.มาตรการด้านประชาสัมพันธ์

 

ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการตามมาตรการที่ 3 ประกอบด้วย

 -ติดตามสถานการณ์ ประเมินความเสี่ยง กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงทุกวัน

 -เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด หากเจ็บป่วยเฉียบพลันรีบไปพบแพทย์

 -สื่อสารแจ้งเตือนประชาชนพร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตน

 -ลงพื้นที่สร้างความตระหนักเรื่องฝุ่นและการป้องกันตนเองในกลุ่มเสี่ยงในสถานที่ต่างๆ ได้แก่ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเผยแพร่สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ชุดความรู้ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับประชาชนทุกช่องทาง

 -เตรียมความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุข ทั้งยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และจัดตั้งคลินิกมลพิษ ที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่ชั้น C อาคาร 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

 

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดังนี้

1.ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยอยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นไม่ควรออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอด หอบหืด ภูมิแพ้ เป็นต้น)

2.หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ควรมีการใส่หน้ากากอนามัย ทั้งนี้หากต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน 3-4 ชั่วโมงต่อวัน ควรใส่หน้ากากกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก

3)หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย และการทำงานหนักที่ออกแรงมาก เพราะการหายใจเร็วในระหว่างการออกกำลังกายมีโอกาสให้ร่างกายรับมลพิษเข้าสู่ปอดได้มากขึ้น

4)ลดแหล่งมลพิษอื่นๆ ภายในบ้าน เช่น งดการสูบบุหรี่ การใช้เตาถ่าน การใช้สเปรย์ฉีดพ่นในบ้าน การจุดธูปเทียน การทำอาหาร การใช้เครื่องดูดฝุ่น กวาดพื้น เป็นต้น

5)อาคารบ้านเรือน ให้ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดและทำความสะอาดโดยการใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ

6)การใช้เครื่องปรับอากาศ ควรทำการปรับให้เป็นระบบที่ใช้เฉพาะอากาศหมุนเวียนภายในบ้านหรืออาคาร และเลือกใช้แผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพกลางถึงสูง เพื่อช่วยในการลดปริมาณอนุภาคจากภายนอกเข้าสู่ภายในอาคาร

7)ไม่เผาอ้อย ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป

8)ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ก่อปัญหาซ้ำเติม หรือทำให้คุณภาพอากาศแย่ลงอีก

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ และสามารถประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ทาง https://goo.gl/forms/dy9MiavLOqE1JkQD3 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 



 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.