เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



โคราช ประชุม เตรียมสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2


5 ก.พ. 2563, 11:50



โคราช ประชุม เตรียมสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2




 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ห้องประชุมมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานการประชุมโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพมหานคร-หนองคาย (การออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย)

โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชนและประชาชนจำนวน 80 คน รับฟังนายดุสดี อภัยสุวรรณ ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงการดำเนินโครงการแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไทย พ.ศ 2558-2569 พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทาง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา-หนองคาย โดยรัฐบาลจีนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนเตรียม การศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้รวมทั้งการดำเนินการก่อสร้างงานโยธา โดยฝ่ายไทยลงทุนเองทั้งหมดและกำหนดนโยบายเริ่มก่อสร้างเส้นทาง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา และส่วนต่อขยายเมื่อมีความพร้อมส่วนการออกแบบและก่อสร้างต้องเป็นไปตามมาตรฐานรถไฟความเร็วสูงประเทศจีน ซึ่งเป็นรูปแบบรถไฟความเร็วสูงให้บริการเฉพาะผู้โดยสาร เดินรถร่วมกับรถสินค้าจากประเทศจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เฉพาะช่วงสะพานข้ามแม่น้ำโขงถึงสถานีรถไฟนาทา อ.เมือง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นการขนส่งรูปแบบใหม่ที่ให้บริการในการเดินทางอย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน นายดุสดีฯ ผจก.โครงการ เปิดเผยว่า พื้นที่โครงการมีจุดเริ่มต้นที่หลักเสาโทรเลขรถไฟ 253+031 บริเวณหลังสถานีรถไฟนครราชสีมาสิ้นสุดที่หลักเสาโทรเลข 609+043 บริเวณกึ่งกลางสะพานข้ามแม่น้ำโขง หนองคาย รวมระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร (ทางวิ่งยกระดับ 102.90 กม. ทางวิ่งระดับพื้นดิน 253.11 กม.) ขนาดทาง 1.435 เมตร แนวเส้นทางรถไฟผ่านสถานีชุมทางบัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานีและหนองคาย ส่วนการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 236 แห่ง ใช้วิธีก่อสร้างทางรถไฟข้ามถนน สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ สะพานรูปตัวยู ทางลอดใต้ทางรถไฟและถนนเลียบทางรถไฟ   

 



“การรถไฟแห่งประทศไทย (รฟท.) ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเปิดโอกาสให้ประชาชน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนและถูกต้อง รวมทั้งแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ แต่การดำเนินโครงการระยะที่ 2 จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับระยะที่ 1 จึงอาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่นำเสนอในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้ต้องทบทวนหรือประเมินข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมปรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้มีความเหมาะสม เพื่อให้โครงการนี้เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนอย่างแท้จริง”  ผจก.โครงการ กล่าว


 

 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.