เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ปศุสัตว์ร้อยเอ็ด" จัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุนสู่มาตรฐาน GAP


25 มิ.ย. 2562, 07:49



"ปศุสัตว์ร้อยเอ็ด" จัดอบรมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุนสู่มาตรฐาน GAP




วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า ณ อาคาร แกรนด์บอลรูม โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมหลักสูตร "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อสู่มาตรฐาน GAP " ภายใต้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อคุณภาพ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดการอบรมฯ การฝึกอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 50 คน

โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมในวันนี้ เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้ว จากทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบด้วย อำเภอปทุมรัตต์ อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี รวมจำนวน 5  อำเภอๆละ 1 กลุ่มๆ ละ 10 ราย รวม 50 ราย โดยผู้ได้รับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้ในการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อ ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 4 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด บรรยายเรื่อง ขั้นตอนการขอมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อ, ฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม(GFM), ปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดง, อาหาร และการให้อาหารโคขุน และศึกษาดูงานที่ศรีภักดีฟาร์ม กฤษฎาฟาร์ม และกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อหนองคัน จังหวัดศรีสะเกษ

นายธนบดี ขวาโยธา ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีโคเนื้อเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญ ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล มุ่งเน้นการทำงานในการดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสม ด้วยวิธีการต่างๆ เข่น การช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิตอย่างทั่วถึง การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ดำเนินการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ เป็นต้น และผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคเนื้อโคคุณภาพเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพ เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วประเทศ และตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ในสภาพปัจจุบันปัญหาลูกโคเนื้อสำหรับผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพในพื้นที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นทุกปี สำหรับการเดินทางจัดซื้อจัดหา การขนส่งลูกโคเนื้อจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศเข้ามาขุนในพื้นที่ และหาซื้อยากขึ้นเนื่องจากขาดแคลน เพราะที่ผ่านมามีพ่อค้ากว้านซื้อโคเนื้อมีชีวิตรวมทั้งโคแม่พันธุ์โดยให้ราคาสูง เพื่อส่งออกไปยังประเทศเวียดนามเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ลดลง จากการที่เกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ จำนวนแม่พันธุ์โคเนื้อลดลงมาก ต้นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อสูงขึ้น ปัจจุบันมีการขุนโคเนื้อเพศเมียมากขึ้น ไม่มีการคัดเลือกแม่โคพันธุ์ดีมาทดแทน ส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อโคคุณภาพ เสียโอกาสในเชิงธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน และถ้าหากเนื้อโคขาดแคลนผลิตไม่พอบริโภคภายในประเทศ จะส่งผลทำให้ราคาเนื้อโคสูงขึ้น มีผลจูงใจในการลักลอบนำเข้าโคเนื้อตามแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการนำโรคระบาดสัตว์เข้ามาในประเทศ ทำให้เสียงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการควบคุมกำจัดโรค เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ไม่คุ้มค่า ประกอบกับการเลี้ยงโคเนื้อมีต้นทุนสูงขึ้น กำไรลดลง มีการแข่งขันด้านการผลิต การค้า การจำหน่ายโคเนื้อ-โคขุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น หากไม่ดำเนินโครงการอาจสร้างความเสียหายและเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพของเกษตรกรและอาจเกิดภาวะขาดแคลนเนื้อโค ตลอดจนปัญหาราคาเนื้อโคแพงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อน

นายธนบดี ขวาโยธา ปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ด ยังกล่าวด้วยว่า โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโคเนื้อเข้าสู่ระบบ GAP สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร้อยเอ็ดได้รับงบประมาณงบพัฒนาจังหวัด ซึ่งเกษตรกรเรามีเป้าหมายอยู่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มของปีที่แล้ว 50 ราย และกลุ่มของปี 2562 50 ราย รวม 100 ราย เกษตรกรปี 2561 ได้รับแม่วัวรายละ 2 ตัว ได้รับไปแล้ว แล้วมีลูกเกิดไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของแม่วัว สำหรับโครงการนี้เป็นการเพิ่มพัฒนาศักยภาพในการที่จะดูแลฟาร์ม จากฟาร์มทั่วๆไปให้เป็นฟาร์มมาตรฐาน เพื่อจะได้รับมาตรฐาน GAP ตอนนี้จะช่วยในการป้องกันโรค และยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับร้อยเอ็ดก็เป็นศูนย์กลางในการผลิตลูกโค และจะส่งโคขุนไปสู่ในระบบตลาด ไม่ว่าจะเป็นโพนยางคำ สหกรณ์หนองสูง นครพนมบีฟ หรือที่อื่นๆ ช่วงนี้ร้อยเอ็ดกำลังดำเนินการเรื่องนี้ เกษตรกรก็จะได้รับผลประโยชน์ในด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความเป็นอยู่ รายได้ที่เพิ่มขึ้น ระบบป้องกันโรคระบาดและลดต้นทุน นี่คือผลที่เราคาดหวังที่จะได้รับจากการฝึกอบรมในครั้งนี้







Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.