เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



จ.สกลนคร เปิด "โครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช" มีแข่งขันการทำปุ๋ยหมักสนุกสนาน


23 ม.ค. 2563, 11:54



จ.สกลนคร เปิด "โครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช" มีแข่งขันการทำปุ๋ยหมักสนุกสนาน




          ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ที่ทุ่งนาบ้านห้วยกอก ต.โพธิไพศาล อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.สกลนคร ร่วมกับ นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5, นายพูนสุข ทะแพงพันธุ์ นายอำเภอกุสุมาลย์ และนายกิตติ ไชยนิมิต ผอ.สถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร ร่วมกันเปิดโครงการรณรงค์งดเผาฟาง และตอซังพืชด้วยการไถกลบ เพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสด ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรกรรมของประเทศไทย มีระดับปริมาณอินทรียวัตถุในดินต่ำ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 191 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหนึ่งนั้นเกิดจากธาตุอาหารในดินซึ่งถูกพืชดูดใช้ และสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ของพืช เมื่อมีการเก็บเกี่ยว และเคลื่อนย้ายส่วนของเศษซากพืชออกไปจากแปลงปลูก ธาตุอาหารเหล่านั้นจะสูญเสียไปในปริมาณสูง จากการสำรวจวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พบว่าในแต่ละปี มีปริมาณมากกว่า 29 ล้านตัน เมื่อคำนวณเป็นปริมาณ ปุ๋ยไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เท่ากับ 2.8 แสนตัน 0.7 แสนตัน และ 5.9 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าของปุ๋ยทั้งสิ้น 7,043 ล้านบาท

 

          ดังนั้นการนำส่วนของพืชออกไปจากพื้นที่การเกษตร หรือการเผาทำลายเศษซากพืชแต่ละครั้ง จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดินเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการเผาตอซังยังเป็นการทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน ทำให้โครงสร้างดินแน่นทึบ, แข็ง และยังเป็นการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อน กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามโครงการรณรงค์ไถกลบตอซัง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ในการพัฒนาระบบการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งการไถกลบตอซังนั้น เป็นแนวทางปฏิบัติอีกวิธีหนึ่ง เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินได้โดยตรง และยังลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ได้รับสนับสนุนในแต่ละปีมีค่อนข้างจำกัด เกษตรกรที่ได้เข้าร่วมการรณรงค์ค่อนข้างน้อย ทำให้การขยายผลยังไม่แพร่หลายได้เท่าที่ควร ดังนั้นการดำเนินงานโครงการรณรงค์ฯ ที่มีต่อเนื่องทุกปีโดยกระจายหลายจุด เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรเกิดจิตสำนึกในการรักษาอินทรียวัตถุในดินได้

 

          นายก่อเกียรติ จันทร์พึ่งสุข ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 5 สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการรณรงค์เพื่อให้เกษตรกร ได้เรียนรู้ถึงระบบการเกษตรแบบยั่งยืน ลดการเผาตอซัง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์

 

          ทางโครงการรณรงค์เพื่อให้เกษตรกรได้ตระหนักถึงผลกระทบของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม ต่อสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งประเทศของเราเริ่มมีค่า มาตรฐาน PM 2.5 เกินแล้ว แต่ยังโชคดีที่ภาคอีสานมีเพียงจังหวัดเดียว คือ จ.นครราชสีมา ส่วนสกลนครยังไม่มีไม่ต้องใช้หน้ากาก สำหรับบรรยากาศการรณรงค์ มีการแข่งขันรถไถนาเดินตาม และมีการสาธิตการขับรถไถโดย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.สกลนคร มีการหว่านปอเทืองเพื่อให้เป็นปุ๋ยพืชสำ ที่สำคัญมีการแข่งขันทำปุ๋ยหมักจากเศษฟางข้าวตามสูตรของกรมพัฒนาที่ดิน คือจะต้องใช้มูลสัตว์ผสมกับฟางข้าว ตามด้วย พด.12 และน้ำ และไปอัดให้แน่น การแข่งขันเป็นไปอย่างสนุกสนาน ผู้แข่งขันลื่นล้มในน้ำเรียกเสียงหัวเราะอย่างขบขัน









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.