เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม" พิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม


22 มิ.ย. 2562, 08:25



"ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อม" พิพากษาให้บริษัทเหมืองแร่จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม




วันที่ 22 มิถุนายน 2562 ผู้สื่อข่าว ONBnews รายงานว่า นายสุรพงษ์  กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนาและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมได้มีคำพิพากษาให้บริษัทผาแดงอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด ร่วมกันจ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านทั้งชาวไทยเชื้อสายไทยและชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ในตำบลแม่กุ พระธาตุผาแดง และแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ได้รับความเสียหายเจ็บป่วยจากสารแคดเมี่ยม จากผลกระทบการกระทำเหมืองแร่ของบริษัททั้งสองรวม 20 ราย เป็นเงินตั้งแต่ 20,200 – 104,000 บาท

ชาวบ้านลุ่มน้ำแม่ตาว ประกอบด้วย 3 ตำบล ได้แก่ตำบลแม่กุ พระธาตุผาแดง และแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลเนื่องจากกิจกรรมทำแร่สังกะสีของบริษัทผาแดงอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด  โดยมีผลการตรวจดิน ข้าว และการตรวจเลือดในร่างกายยืนยัน  ได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายต่อบริษัททั้งสองตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552  รวมทั้งฟ้องร้องหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมต่อศาลปกครอง

 

จนวันที่ 14 สิงหาคม 2556 ศาลปกครองพิษณุโลกได้อ่านคำพิพากษา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศกำหนดให้บริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 

ต่อมาในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาแผนกสิ่งแวดล้อมได้อ่านคำพิพากษา ให้บริษัททั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำกิจกรรมเหมืองแร่จำนวน 155 คน  เป็นเงินตั้งแต่ 10,000 – 280,000 บาท แตกต่างกันตามความเสียหายที่สามารถพิสูจน์ได้

 

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า  มีข้อสังเกตว่า เมื่อปี 2561 ศาลฎีกาให้บริษัททั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องทุกคนทั้ง 155 คนที่อาศัยอยู่และทำกินบริเวณลำห้วยแม่ตาว  แต่คำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562  ศาลฎีกาให้ชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะผู้ที่มีผลการตรวจและรายงานการรักษาจากโรงพยาบาลเท่านั้น  ทำให้ชาวบ้านได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเพียง 20 คน จากผู้ยื่นฟ้อง 84 คน  และแตกต่างจากกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ ที่ลำห้วยคลิตี้ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ชาวบ้านชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงได้รับการชดใช้ค่าเสียหายทุกคน  และมีจำนวนเงินในแต่ละรายมากกว่ากรณีแคดเมี่ยมที่ลุ่มน้ำแม่ตาวมาก  ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความยากลำบากในการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

ด้านนายญาณพัฒน์  ไพรมีทรัพย์ แกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า เงินที่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรมเป็นเงินที่มีจำนวนน้อยมาก เฉลี่ยต่อรายเป็นเพียงหลักหมื่น ปัจจุบันชาวบ้านยังมีการเจ็บป่วยอยู่ตลอดมา  บางคนมีอาการทางโรคไต บางคนหลังคู้งอ  มีอาการปวดตามข้อต่างๆ  อีกทั้งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งในพื้นที่เหมืองแร่เดิมที่ปิดทำการไปแล้ว ในห้วยแม่ตาวตลอดจนในชุมชน ก็ยังไม่เกิดขึ้น  ชาวบ้านยังคงได้รับอันตรายจากสารพิษจนปัจจุบัน

 

นายญาณพัฒน์กล่าวในที่สุดว่า  อยากให้มีการศึกษาจุดรั่วไหลจากเหมืองแร่ให้ชัดเจน  จะได้ทราบจุดกำเนิดและทิศทางรั่วไหลแพร่กระจายมลพิษ  เพื่อจะได้แก้ไขกำจัดมลพิษและฟื้นฟูได้ถูกจุด  รวมทั้งเร่งประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม  เนื่องจากหลังจากมีคำพิพากษาศาลปกครองในปี 2556 ก็ยังไม่มีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมออกมาเลย./

 









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.