เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สุดทึ่ง!! “ไอ้น้อง” ลิงป่าภูเขาบูโด แสนรู้เชื่อง ชอบหาหอกให้ชาวบ้าน


15 ธ.ค. 2562, 19:14



สุดทึ่ง!! “ไอ้น้อง” ลิงป่าภูเขาบูโด แสนรู้เชื่อง ชอบหาหอกให้ชาวบ้าน




วันที่ 15 ธ.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news ได้รับแจ้งจาก น.ส.พรพรรณ พลูกลับ หรือ "ปุ้มปุ้ย" อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 174/1 หมู่ 12 ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ว่ามีลิงป่า หรือ ค่างแว่น อายุประมาณ 1 -  2 ปี จำนวน 1 ตัว แตกต่างจากลิงป่าทั่วไป เนื่องจากลิงป่าตัวนี้มีความเชื่องแสนรู้ ไม่ดุร้าย ที่สำคัญชอบหาเหาให้กับชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวจึงลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมด้วย นายธีระพงษ์ ช่วยชู นายอำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช, นายสุนทร ขนอม กำนันตำบลควนทอง, นายไตรรงค์ ใจสบาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนทอง, นายมานะ เพชรรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.ควนทอง, ว่าที่ ร.ต.ธงชัย ใจสบาย ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 ต.ควนทอง พร้อมฝ่ายปกครอง ร่วมกับ นายพีระชัย คงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอมหมู่เกาะทะเลใต้, นายวินิต รัตนชู เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อสำรวจพื้นที่หาแนวทางป้องกันและอนุรักษ์รักษาลิงป่าหรือค่างแว่นตัวดังกล่าว ที่บริเวณเขาบูโดหรือเขาช่องเนียง รอยต่อระหว่าง หมู่ 8, 10 และหมู่ 12 ต.ควนทอง อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อถึงพบ น.ส.พรพรรณ พลูกลับ ซึ่งอาศัยอยู่กับ บิดา มารดา เล่าให้ฟังว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตนพบลูกลิงป่าหรือค่างแว่นตัวดังกล่าว นั่งอยู่บนต้นไม้ บริเวณริมภูเขาบูโดหรือภูเขาช่องเนียง เขตรอยต่อระหว่างบ้านนานนท์ บ้านเขาหัวช้าง และบ้านคลองวัง ซึ่งอยู่ใกล้กับสวนยางพาราของตน สังเกตเห็นลูกลิงป่าตัวดังกล่าวท่าทางอิดโรย และหิว เนื่องจากช่วงนั้นเป็นฤดูแล้ง ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดว่าลูกลิงป่าอาจลงจากภูเขามาหาอาหารกิน จึงเดินออกจากบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตามลูกลิงป่าตัวดังกล่าว แทนที่จะตกใจและหนีกลับเข้าป่า แต่กลับห้อยโหนไต่ต้นยางพาราติดตามตนจนถึงบ้าน กระทั้งเช้าลูกลิงป่ายังไม่กลับเข้าป่าไป ด้วยความสงสารคิดว่าลูกลิงป่าคงหิว ซึ่งปกติตนเป็นคนรักสัตว์ จึงศึกษาชีวิตของลิงป่าหรือค่างแว่นในอินเตอร์เน็ต เกี่ยวกับการดำรงชีวิต การกินอาหาร จากนั้นนำปลีกล้วยป่า มะเขือ กล้วยน้ำหว้าสุก และผลไม้ที่รสฝาดนำไปวางใต้ต้นยางที่ลูกลิงป่าอยู่ แต่ด้วยความที่ไม่คุ้นเคยตลอดเวลา 3 เดือน ที่ตั้งอาหารให้ลูกลิงป่าตัวดังกล่าวจะลงมากินเสร็จแล้วก็ปีนไต่ขึ้นต้นไม้ไป  

น.ส.พรพรรณ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ตนออกกรีดยางพาราในสวน จะพบลูกลิงป่าตัวดังกล่าวปีนไต่ห้อยโหนต้นยางพาราติดตามตนระหว่างกรีดยาพาราทุกวัน และหลังกรีดยางเสร็จตนจะหาผลไม้ให้ลูกลิงป่ากินทุกวัน ไม่นานลูกลิงป่าเริ่มคุ้นเคยและสนิทกับตน ตนจึงตั้งชื่อว่า ไอ้น้อง  เพื่อง่ายในเวลาเรียก หลังจากนั้นทุกครั้งที่ตนเรียกชื่อ ไอ้น้อง พร้อมปรบมือเรียก ไอ้น้อง จะรีบไต่ต้นไม้ลงจากภูเขามาหาตนทันที และบางครั้ง ไอ้น้อง จะเดินตามตนบนถนนเหมือนไปส่งตนที่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างไป 3 กิโลเมตร กระทั้งผ่านไป 9 เดือน ไอ้น้อง เริ่มมีความคุ้น เชื่อง ไม่มีท่าทีกลัวคน ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นเกิดความเอ็นดู และรักไอ้น้อง เนื่องจากเมื่อไอ้น้องกับชาวบ้านพบกัน ไอ้น้องจะมีท่าทีอ่อนโยน ขี้เล่น ที่สำคัญชอบหาหอกบนศีรษะให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามตอนนี้รู้สึกกลัวว่า ไอ้น้อง จะไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากความเชื่อง อาจถูกคนไม่หวังดีทำร้ายได้

ด้าน นายธีระพงษ์ ช่วยชู นายอำเภอขนอม จ.นครศรีธรรมราช กล่าว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มเป็นห่วงในความปลอดภัยของลูกลิงป่า จึงประสานผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ให้ช่วยเข้ามาตรวจสอบเพื่อหาแนวทางดูแลความปลอดภัย รวมทั้งหาแนวทางอนุรักษ์ลิงป่าบนภูเขา พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงช่วยกันดูแลอย่าทำร้ายลิงป่าตัวดังกล่าว รวมทั้งสัตว์ป่าทุกชนิดบนภูเขา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามล่าสัตว์อย่างเด็ดขาด ทราบว่าบนภูเขาบูโดหรือเขาช่องเนียง มีฝูงลิงป่าอาศัยอยู่หลายสายพันธุ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝูงลิงป่าหรือค่างแว่น อาศัยอยู่เป็นฝูงประมาณ 30 ตัว และชอบลงจากภูเขาเพื่อหาอาหาร และเท่าที่ทราบลิงป่าหรือค่างแว่นไม่เคยทำร้ายทรัพย์สินของชาวสวน นอกจากนี้จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและติดสัญญาณหรือฝังชิปเพื่อติดตาม วิจัย และศึกษาการใช้ชีวิตของฝูงลิงป่า เพื่อเป็นแนวทางอนุรักษ์ต่อไป

 

 

สำหรับค่างแว่นถิ่นใต้ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Trachypithecus obscurus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกค่างลักษณะทั่วไปคล้ายค่างแว่นถิ่นเหนือ (T. phayrei) คือมีวงกลมสีขาวรอบตาเหมือนกับใส่แว่นอันเป็นที่มาของชื่อมีขนาดของลำตัวยาว 45-57 เซนติเมตร หางยาว 66-78 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 6-9 กิโลกรัม ค่างโตเต็มวัยมีขนบริเวณด้านหลังสีเทาเข้มเกือบดำขนบริเวณด้านข้างใบหน้าบริเวณปลายมือและปลายเท้ามีสีเทาเข้มโคนขาและโคนแขนด้านนอกเป็นสีเทาจางลักษณะสำคัญที่ใช้จำแนกค่างชนิดนี้คือสีขนหางสีดำลูกที่เกิดใหม่สีขนจะเป็นสีทอง

อาศัยอยู่ตามป่าเขาหินปูนที่มีโขดหินสูงชันนอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบหรือสวนยางพาราพบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า, ไทย, มาเลเซียในประเทศพม่าพบบริเวณเทือกเขาตะนาวศรีลงไปทางใต้นอกจากนี้ยังพบตามเกาะต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย เช่น เกาะลังกาวี เกาะปีนัง ส่วนในประเทศไทยพบได้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดและเขาล้อมหมวกใกล้กับอ่าวมะนาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อุทยานแห่งชาติตะรุเตาและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจังหวัดสตูล, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงจังหวัดสุราษฎร์ธานี, วัดถ้ำเขาพลูอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพร เป็นต้น

สำหรับพฤติกรรมมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีสมาชิกประมาณ 4-30 ตัว สามารถอาศัยอยู่ได้ในป่าหลายประเภทตั้งแต่เทือกเขาสูงจนถึงชายป่าที่ติดริมทะเลโดยมักเข้าไปอาศัยในป่าที่มีต้นไม้สูงกินอาหามากถึงวันละ 2 กิโลกรัม เป็นสัตว์ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับมนุษย์มากนักมักขี้อายและจะหลบหนีเมื่อพบกับมนุษย์ในขณะที่ออกหากินเป็นฝูงจะมีอยู่ตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่เฝ้าคอยระวังภัยโดยนั่งดูเหตุการณ์บนต้นไม้เงียบ ๆ ค่างแว่นถิ่นใต้ ที่อาศัยอยู่บริเวณภาคใต้ของไทยจะมีระยะเวลาออกลูกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 140 - 150 วัน

 

 









Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.