สมาคมการประมงฯ เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
5 ธ.ค. 2562, 14:59
ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า จากกรณีที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้นัดหมายชาวประมงและธุรกิจต่อเนื่องประมงทุกประเภททั้ง 22 จังหวัดติดชายฝั่งทะเล รวมทั้งจังหวัดตรัง เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประมง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกันในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ โดยจะมีข้อเรียกร้องจำนวน 11 ข้อ เช่น ให้หยุดออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงเพิ่มเติมอีก, ให้แก้กฎหมาย พ.ร.ก.ประมง พ.ศ.2558 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร็ว, ให้รัฐเร่งซื้อประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว, ให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับชาวประมงภายในเดือนธันวาคมนี้, ให้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง, ให้หยุดการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศทันที, ให้เพิ่มวันทำการประมง และให้ทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมันดีเซลให้กับชาวประมงต้องจ่ายเงินผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet CARD) เป็นต้น
นายสฤษฏ์พัฒน์ ภมรวิสิฐ นายกสมาคมการประมงกันตัง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ผลจากการที่ภาครัฐได้ออก ระเบียบ ประกาศ และมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้กับชาวประมง ทำให้กระทบต่ออาชีพประมงและธุรกิจต่อเนื่องเป็นอย่างมาก จนผู้ประกอบการจำนวนมากต้องหยุดกิจการ เนื่องจากประสบภาวะขาดทุน มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น และขาดแคลนแรงงาน แม้ไทยจะได้รับการปลดใบเหลืองจากสหภาพยุโรปแล้ว และภาครัฐพยายามจะแก้ปัญหา แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่คลี่คลายและไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากติดขัดระบบราชการและการตัดสินใจของผู้มีอำนาจ รวมทั้งยังมีการออกกฎ ระเบียบที่สร้างปัญหาใหม่ๆ อีก เช่น การจะบังคับให้ชาวประมงชำระค่าน้ำมันผ่านระบบฟรีทการ์ด ซึ่งเป็นระบบเงินสดผ่านธนาคาร ถือเป็นปัญหาอย่างมากกับชาวประมงที่ออกไปทำประมงในระยะไกล ขณะที่เรือแท้งค์เกอร์น้ำมันก็ไกลจากชายฝั่งค่อนข้างมาก บางพื้นที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 70-80 ไมล์ทะเล ทำให้เกิดปัญหากับชาวประมงที่จะต้องใช้ฟรีทการ์ด จึงขอให้ยกเลิกระบบดังกล่าว นอกจากนั้น ยังมีปัญหาราคาสินค้าตกต่ำจากการสัตว์น้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาแย่งตลาด ประกอบกับกฎหมายประมงของไทยบังคับใช้เข้มข้นไม่ยืดหยุ่น ทำให้ตลอด 4-5ปีที่ผ่านมา มีเรือประมงจำนวนมากต้องหยุดกิจการ
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั่วประเทศประมาณ 11,000 ลำ แต่ออกทำประมงจริงๆ ไม่เกิน 6,000 ลำ สาเหตุเพราะขาดทุนสะสม และขาดแคลนแรงงาน สำหรับจังหวัดตรัง มีเรือประมงทั้งหมดประมาณ 180 ลำ แต่ขณะนี้ต้องจอดหยุดทำประมงไปทั้งสิ้นประมาณ 30-40 ลำ ส่วนโรงงานปลาป่นทั่วประเทศมีกว่า 90 โรง แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 60 โรง เฉพาะในจังหวัดตรัง เดิมมีโรงงานปลาป่น 7 โรง แต่ขณะนี้เหลือประกอบกิจการได้ประมาณ 3 โรง และไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ทุกวัน อย่างไรก็ตาม หากยื่นหนังสือครั้งนี้แล้ว รัฐบาลยังไม่เร่งแก้ปัญหา ก็พร้อมจะยกระดับการเรียกร้องร่วมกับสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ทั้งการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมเรียกร้อง รวมทั้งการหยุดทำประมง และหยุดดำเนินการกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะเประมงในจังหวัดตรัง รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องจากประมง ก็พร้อมจะหยุดออกเรือและหยุดดำเนินกิจการทุกประเภทด้วยเช่นกัน