“ภูมิธรรม” มอบ 5 นโยบายขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครสู่เมืองแห่งความสุขที่ยั่งยืน พร้อมย้ำแนวทาง "เร่งด่วน - จริงจัง - ตรงจุด - ยั่งยืน"
15 ก.ค. 2568, 19:02

วันนี้ (15 ก.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานมอบนโยบายสำคัญเร่งด่วนให้กับกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (หลังเก่า) อาคารสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พญ.วันทนี วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายภูมิธรรม กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายจำนวนมากในพื้นที่เมืองหลวงแห่งนี้ในฐานะเมืองศูนย์กลางของประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการบริหารจัดการเมืองที่ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการจราจรและขนส่งมวลชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไปจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่
กระทรวงมหาดไทยในฐานะกำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร จึงขอให้กรุงเทพมหานครนำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนากรุงเทพมหานครให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม ได้แก่
1. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม ความรุนแรง และความไม่สงบสุขในชุมชน และเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการแพร่ระบาดของยาเสพติด จึงต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการสร้างเครือข่ายป้องกันยาเสพติดในระดับเขตและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พร้อมทั้ง Re X-ray ชุมชนและพื้นที่เสี่ยงทุกแห่ง ทำให้เป็นพื้นที่สีขาวปลอดยาเสพติด และเร่งรัดการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดอย่างมีมนุษยธรรมและยั่งยืน มีระบบการติดตามอย่างต่อเนื่อง
2. "การจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิทธิพล ปัญหาการกระทำผิดกฎหมายและปัญหาผู้มีอิทธิพล" ทั้งการลักลอบเปิดสถานบริการที่ผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน การค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าว การเก็บส่วย การจัดการพื้นที่ค้าขาย ด้วยการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะและแหล่งเศรษฐกิจ พื้นที่สถานบันเทิง ตลาดนัด ตลอดจนสถานีขนส่ง ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ค้าและประชาชนทั่วไป โดยใช้ "สุขุมวิทโมเดล" เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่จะทำให้กรุงเทพมทานครเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสำหรับทุกคน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดจากสิ่งผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
3. "การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน" ด้วยความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ และความแตกต่างของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กยากไร้ และผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล ต่อยอด OTOP สู่สินค้าเชิงคุณภาพ ที่ไม่ใช่แค่มีจำนวน แต่ต้องมีคุณค่า ด้วยการยกระดับสู่ THAIWorks and Beyond และส่งเสริมแพลตฟอร์มการค้าสมัยใหม่ การฝึกอาชีพ และการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
4. การบริการภาครัฐ รวดเร็ว ตรงใจ หนึ่งในหัวใจของการบริหารราชการแผ่นดินในยุคปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนผ่านจากระบบราชการแบบเดิมไปสู่การให้บริการที่รวดเร็ว ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ด้วยการปฏิรูประบบราชการในระดับเมืองให้เป็นภาครัฐแบบใหม่ ที่เน้นการให้บริการเชิงรุกเข้าถึงง่าย และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ เพื่อประชาชนได้รับความสะดวกในการรับบริการ
5. เรื่องร้องทุกข์ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยความ "เร่งด่วน - จริงจัง - ตรงจุด - ยั่งยืน" เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เช่น แพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) ซึ่งเป็นระบบที่มีการใช้งานแล้วในหลายพื้นที่ สามารถบูรณาการข้อมูลเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนกับกระทรวงมหาดไทยได้ต่อไป
นอกจากนี้ ขอให้กรุงเทพมหานครให้การสนับสนุนมาตรการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะและการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับนโยบาย "ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย" ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน
"กระทรวงมหาดไทยจะคอยประสานและสนับสนุนการทำงานกับกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิดเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไข และขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐมีผลสัมฤทธิ์และเป็นรปธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด" นายภูมิธรรม กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน น.ส.ธีรรัตน์ ได้กล่าวถึงการขับ "สุขุมวิทโมเดล" ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นถึงความปลอดภัยสำหรับทุกคน มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และปลอดจากสิ่งผิดกฎหมายในทุกรูปแบบ ด้วยการบูรณาการของ 8 หน่วยงาน โดยหากกรุงเทพมหานครต้องการขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทยขอให้ได้แจ้งเป็นรายกรณี
ด้านนายชัชชาติ ได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนงานของกรุงเทพมหานครเพื่อขอรับการสนับสนุนกำกับดูแลจากกระทรวงมหาดไทย 7 ด้าน ได้แก่ 1. งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 2. สายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3. การเปลี่ยนไฟฟ้าแสงสว่างเป็นแอลอีดี 4. โครงการก่อสร้างและปรับปรุงท่อประปา 5. สุขุมวิทโมเดล 6. ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และ 7. เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษียาสูบ และค่าธรรมเนียมบำรุงที่พักในโรงแรม