นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ ครั้งที่ 2 เสนอกรอบ “3Ps”
27 พ.ค. 2568, 13:33

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2568) เวลา 10.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ (ซึ่งตรงกับเวลา 9.30 น. ประเทศไทย) ณ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 3 ศูนย์ประชุม Kuala Lumpur Convention Center (KLCC) ประเทศมาเลเซีย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน–คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำและผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนและ GCC ได้แก่ เจ้าชายซัลมาน บิน ฮะมัด อาล เคาะลีฟะฮ์ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน, เชค เศาะบาฮ์ อัลคอลิด อัลฮะมัด อัลมุบาร็อก อัศเศาะบาฮ์ มกุฎราชกุมารและรองเจ้าผู้ครองรัฐคูเวต, สมเด็จพระราชาธิบดีฮัยซัม บิน ฏอริก สุลต่านและนายกรัฐมนตรีรัฐสุลต่านโอมาน, เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐกาตาร์, เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และ เชค มุฮัมมัด บิน ซายิด อาลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเจ้าผู้ครองรัฐอาบูดาบี
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของถ้อยแถลง ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมฯ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้การขยายความร่วมมือระหว่างภูมิภาคยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงร่วมกันในด้านเศรษฐกิจและสังคม นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางภายใต้กรอบ “3Ps” ได้แก่
1) ความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรือง (Prosperity) นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความสำคัญของการยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก อาทิ การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าและภาษีของสหรัฐฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความหลากหลาย และความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนให้มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมฮาลาล พลังงานสะอาด ความมั่นคงด้านอาหาร และ MSMEs รวมทั้งผลักดันการจัดตั้งเวที ASEAN-GCC Business Forum อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการศึกษาความเป็นไปได้ของ FTA ระหว่างอาเซียนและ GCC
2) ความร่วมมือเพื่อประชาชน (People) นายกรัฐมนตรีเสนอความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โดยเน้นการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนบุคลากรในด้านต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ และสุขภาพ พร้อมเสนอให้จัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
3) ความร่วมมือเพื่อโลก (Planet) โดยทั้งอาเซียนและ GCC ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องร่วมกันผลักดันวาระสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ไทยพร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือด้านเทคโนโลยี โดยเสนอให้ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ GCC ผลักดันความร่วมมือ อาทิ การเงินสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในฉนวนกาซา โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่การเจรจาหยุดยิงและข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนตัวประกัน เพื่อเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยยังคงสนับสนุนแนวทางสองรัฐ (Two-State Solution) และขอบคุณความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งตัวคนไทยกลับสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ GCC ควรได้รับการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีอยู่ โดยเน้นการสานต่อเจตนารมณ์ผ่านการดำเนินการจริง และการหารือระดับผู้นำอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนความมั่งคั่ง ประชาชน และโลก ของทั้งสองภูมิภาคอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Joint Statement of the Second Summit of ASEAN and GCC) และ (2) ปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน กับคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Joint Declaration on Economic Cooperation between the ASEAN and GCC) โดยเอกสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับไทยในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศนอกภูมิภาคในประเด็นที่ไทยต้องการเพิ่มพูนศักยภาพ เช่น การเสริมสร้างความปลอดภัยและความมั่นคง การเสริมสร้างความเชื่อมโยง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล นายจิรายุ กล่าว