รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา
14 พ.ค. 2568, 14:59

วันนี้ (วันพุธที่ 14 พฤษภาคม 2568) เวลา 13.00 น. ณ โถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าการเจรจานโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดที่ทางประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอให้ทางสหรัฐฯ ผ่านการยื่นหนังสือโดย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ถึง นาย Jamison Greer ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ (USTR) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 โดยเนื้อหา ได้เสนอกรอบการหารือที่ผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานนโยบายการค้า และผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยการเจรจา 5 เสาหลัก ได้แก่
1) ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย- สหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล (Data Center and AI Industry) และการพิจารณาดำเนินการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีและมิใช่ภาษี
2) เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน สินค้าเกษตร และเครื่องบิน ส่วนประกอบและอุปกรณ์บริการ โดยปลัดกระทรวงพลังงานพร้อมด้วยผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด ได้เดินทางไปรัฐอลาสกา เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอลาสกา รวมถึงบริษัทด้านพลังงานของสหรัฐฯ เพื่อหาโอกาสและเพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย – สหรัฐฯ
3) การเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทย อาทิ ผลไม้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
4) การบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งไทยได้เริ่มการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแล้วอย่างจริงจัง
5) ส่งเสริมการลงทุนไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยขณะนี้ ดร.นลินี ทวิสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย รวมถึงภาคเอกชนชั้นนำของไทย อยู่ระหว่างเดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมงาน Select USA Investment Summit 2025 เพื่อไปดูลู่ทางการลงทุนในสหรัฐฯ ด้วย
ล่าสุด นายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Mr. Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีเป็นบวกต่อข้อเสนอของไทย โดยได้พูดถึงประเทศไทย ในการขึ้นเวที Saudi Arabia Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568
โดยจากการที่นายสก็อตต์ เบสเซนต์ มีท่าทีเป็นบวก และกล่าวว่าเป็นข้อเสนอที่ดี แบบเดียวกับที่พูดถึงข้อเสนอของประเทศอินโดนีเซีย และไต้หวัน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสัญญาณบวกจากระดับนโยบายของ สหรัฐฯ และคาดได้ว่า ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในระดับ working level ให้พิจารณาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณในการดำเนินการต่อไป
"สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯ พิจารณาให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะหารือเพื่อหาข้อยุติในส่วนของมาตรการภาษีต่างตอบแทน และจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ต่อไป" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว