เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ฮือฮา...ไทยแลนด์ ยังหอมหวนนักลงทุนแห่ลงทุนเพิ่มไตรมาสแรก ทะลุ 47,000 ล้าน


3 พ.ค. 2568, 15:07



ฮือฮา...ไทยแลนด์ ยังหอมหวนนักลงทุนแห่ลงทุนเพิ่มไตรมาสแรก ทะลุ 47,000 ล้าน




ฮือฮา...ไทยแลนด์ ยังหอมหวนนักลงทุนแห่ลงทุนเพิ่มไตรมาสแรก ทะลุ 47,000 ล้าน รัฐบาลเร่งยกระดับศักยภาพการลงทุนเพิ่ม ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาแรงงานไทย และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน


วันนี้ (3 พฤษภาคม 2568) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากข้อมูลไตรมาสแรกของปี 2568 (ม.ค. - มี.ค.) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 272 ราย เพิ่มขึ้น 53% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 67 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 205 ราย เงินลงทุนรวม 47,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 1,605 คน เพิ่มขึ้น 90%  โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ของไตรมาสแรก ปี 2568 ได้แก่ 

1. ญี่ปุ่น 57 ราย คิดเป็นร้อยละ 21 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,915 ล้านบาท 
2. สหรัฐอเมริกา 35 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,490 ล้านบาท 
3. จีน 34 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 6,083 ล้านบาท 
4. สิงคโปร์ 31 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,950 ล้านบาท 
5. ฮ่องกง 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,655 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ในไทยในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีเฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้กับคนไทย อาทิ องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของระบบควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูลสำหรับโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับสถานีจัดประจุไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจัดการเชื้อเพลิงอัจฉริยะ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมจัดการคลังสินค้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 มีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ จำนวน 88 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 57% มีมูลค่าการลงทุน 24,234 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 27 ราย ลงทุน 9,295 ล้านบาท จีน 22 ราย ลงทุน 3,685 ล้านบาท สิงคโปร์ 9 ราย ลงทุน 2,194 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 30 ราย ลงทุน 9,060 ล้านบาท  โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (แม่พิมพ์ (Mould) ที่ใช้สำหรับผลิตชิ้นส่วนพลาสติก อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องทำความเย็น ชิ้นส่วนสำหรับซ่อมแซมเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์ ธุรกิจบริการเคลือบผิวผลิตภัณฑ์โลหะ ธุรกิจบริการให้ใช้แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน เป็นต้น
         
“การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจและมูลค่าการลงทุน สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทย สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจ ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังคงเป็นจุดหมายสำคัญของการลงทุน 

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมเดินหน้ายกระดับศักยภาพการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาแรงงานไทยให้พร้อมรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่มั่นคงและยั่งยืน เพื่อรองรับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะยาว” นางสาวศศิกานต์ ย้ำ





คำที่เกี่ยวข้อง : #ภาครัฐ  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.