เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



GISTDA ย้อนหลัง 10 ปี ปัญหาฝุ่น-ไฟป่า พบ "กระแสลม" ปัจจัยหลักพัดพาฝุ่นฟุ้งกระจาย


21 มี.ค. 2567, 13:50



GISTDA ย้อนหลัง 10 ปี ปัญหาฝุ่น-ไฟป่า พบ "กระแสลม" ปัจจัยหลักพัดพาฝุ่นฟุ้งกระจาย




สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า สถานการณ์จุดความร้อน (Hot Spot) รายวันขอ'ประเทศไทยช่วงต้นเดือนมี.ค. อ้างอิงจากระบบแสดงผลข้อมูลจุดความร้อนจากระบบ NASA FIRMS และ GISTDA แบบอัตโนมัติ เรียกได้ว่าปริมาณจุดความร้อนยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ด้วยจำนวนจุดความร้อนรวมทั่วประเทศ มากกว่า 1,000 จุด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกึ่งหนึ่งเป็นจุดความร้อนที่ตรวจพบในพื้นที่ภาคเหนือ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในช่วงต้นเดือนมี.ค. 67 อ้างอิงจากแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น" พบว่าหลายจังหวัดยังอยู่ในโซนสีส้ม-สีแดง หรืออยู่ในระดับมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ประชาชนยังคงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กกันต่อไป ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ มีความเกี่ยวพันอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน คือ พื้นที่ใดเกิดไฟป่าขึ้น บริเวณรอบๆ ก็มักจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาไหม้ในปริมาณที่มากเกินกว่าปกติ และสภาพอากาศท้องถิ่นที่ไม่ระบาย เช่นเดียวกับสถานการณ์จุดความร้อนในปัจจุบัน คือพื้นที่ทางภาคเหนือ มีจำนวนจุดความร้อนรายวันมากกว่าพื้นที่ในภูมิภาคอื่นๆ และเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
 




จากข้อมูลภูมิสารสนเทศทำให้เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยจากข้อมูลสถิติย้อนหลัง 10 ปี เกี่ยวกับค่าเฉลี่ยจำนวนจุดความร้อน และค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน วิเคราะห์โดย GISTDA พบว่า

-ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. พื้นที่ที่เกิดจุดความร้อนเฉลี่ยสูงสุด คือ ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา แต่พื้นที่ที่พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยสูงสุด กลับเป็นพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย

-ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. พื้นที่เกิดจุดความร้อนเฉลี่ยสูงสุด คือ ทางตอนเหนือของประเทศลาว ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเฉลี่ยสูงสุด กลับครอบคลุมทั้งภาคเหนือของประเทศลาว และภาคเหนือ ภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย


สิ่งที่ทำให้เกิดลักษณะดังกล่าว คือ "กระแสลม" ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการพัดพาฝุ่นละอองกระจายไปยังพื้นที่ข้างเคียง ดังนั้นการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากจะต้องให้ความสำคัญกับจุดความร้อน หรือพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ยังต้องติดตามพื้นที่ข้างเคียง หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด เพื่อความเข้าใจภาพรวมสาเหตุของปัญหา และนำมา ซึ่งมาตรการการแก้ไขที่ตรงจุด

ปัจจัยทางสภาพอากาศ ทั้งสภาพอากาศปิดไม่ระบาย และความแห้งแล้งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรายังคงต้องเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไปอีกสักระยะ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง


คำที่เกี่ยวข้อง : #GISTDA   #ปัญหาฝุ่น  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.