เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สทนช. แจ้งเตือน! เฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ" ช่วงวันที่ 9-15 ก.พ. นี้


9 ก.พ. 2567, 11:37



สทนช. แจ้งเตือน! เฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง-น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ" ช่วงวันที่ 9-15 ก.พ. นี้




สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งเตือนเฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำ ช่วงวันที่ 9-15 ก.พ.67 โดยระบุว่า

1. เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนในพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ 

2. เฝ้าระวังน้ำเค็มรุกล้ำส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภค บริโภค และการเกษตร

-แม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี 
-แม่น้ำแม่กลอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม 
-แม่น้ำท่าจีน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และนครปฐม 
-แม่น้ำบางปะกง ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี



นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด และให้เฝ้าระวังติดตามคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา สัตว์น้ำ ไม้ผลและพืชเศรษฐกิจ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ส้มโอ และกล้วยไม้ เป็นต้น 

ช่วงระหว่างวันที่ 9-13 ก.พ.67 จะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช. ได้ประสานกับกรมชลประทาน ในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทานจะเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี

สำหรับปริมาณน้ำที่จะใช้ในการผลักดันน้ำเค็มของเขื่อนเจ้าพระยานั้น จะมาจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุด (7ก.พ.67) มีปริมาณน้ำที่ใช้การได้รวมกัน 8,628 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 47% ซึ่งมีเพียงพอที่จะจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ และมีพอเพียงที่จะใช้ผลักดันน้ำเค็มเพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา

ส่วนแม่น้ำท่าจีนจะมีการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ผ่านคลองท่าสาร-บางปลาและคลองจรเข้สามพัน เพื่อนำมาผลักดันน้ำเค็มที่รุกตัวในแม่น้ำท่าจีน เพื่อควบคุมค่าความเค็มไว้ไม่ให้รุกเข้ามาถึงปากคลองจินดา ที่มีสวนกล้วยไม้จำนวนมากอาจกระทบต่อพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ในขณะที่แม่น้ำแม่กลองจะมีการเพิ่มปริมาณการระบายน้ำของเขื่อนแม่กลอง ซึ่งในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์และเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก ปัจจุบัน (7ก.พ.67) มีปริมาณที่ใช้การได้รวมกันอยู่ที่ 8,046 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้ อีกทั้งจากการคาดการณ์ในฤดูฝนปี 2567 จะมีปริมาณน้ำเต็มเขื่อน ซึ่งจะสามารถส่งน้ำลงมารักษาคุณภาพน้ำให้แม่น้ำแม่กลอง ช่วยให้มีปริมาณน้ำดิบมีคุณภาพเหมาะสมเพื่อผลิตน้ำประปาให้ประชาชนบริเวณ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ได้อย่างพอเพียง


การเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง เกษตรกรบางส่วนยังมีความต้องการใช้น้ำกร่อยในการอนุบาลสัตว์น้ำ จึงได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมความค่าเค็มที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้กระทบต่ออาชีพและรายได้ของเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ขณะเดียวกันจะต้องไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการผลิตน้ำประปาด้วย

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สำหรับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคที่สำคัญของชาว จ.ฉะเชิงเทรา และสนับสนุนการผลิตน้ำประปาเพื่อใช้ในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้น้ำจากเขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนนฤบดินทรจินดา และเขื่อนพระปรง ในการผลักดันน้ำเค็มมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ห้วงฤดูแล้ง ในขณะเดียวกันจะต้องรักษาน้ำกร่อยไว้เพื่อการเกษตรริมแม่น้ำสำหรับใช้ในการอนุบาลลูกกุ้งเช่นเดียวกัน 

แม้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่การบูรณาการประสานความร่วมมือบริหารจัดการน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำสายหลักทั้ง 4 สายดังกล่าว ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งภาคประชาชน จะสามารถควบคุมคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ตลอดจนการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ของทุกภาคส่วน ตามที่ได้วางแผนไว้ตลอดฤดูแล้งจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนหน้าอย่างแน่นอน






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.