เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ครม.ไฟเขียวมาตรการบริหารจัดการน้ำ รองรับฤดูแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ปี66/67


6 ก.พ. 2567, 15:47



ครม.ไฟเขียวมาตรการบริหารจัดการน้ำ รองรับฤดูแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ปี66/67




วันนี้ ( 6 ก.พ.67 ) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567  (9 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 และมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว โดยรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
  
นายคารม กล่าวว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 จำนวน 3 ด้าน 9 มาตรการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันต่อสถานการณ์ และจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ด้านน้ำต้นทุน (Supply)
มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรองพร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ  (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
ด้านความต้องการใช้น้ำ (Demand)
มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง  (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตราการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ  (ตลอดฤดูแล้ง) 
ด้านการบริหารจัดการ (Management)
มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)
มาตรการที่ 9 ติดตามและประเสิมผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)

สำหรับ การจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ขาดแคลนน้ำหรือเสี่ยงภัยแล้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการจ้างแรงงานให้กับประชาชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ (1) การซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ (2) การปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ (3) การสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค (4) การเพิ่มน้ำต้นทุน เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และ (5) การเตรียมความพร้อมเครื่องมือเครื่องจักร

“การดำเนินการมาตรการและโครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ให้ สทนช. ทราบทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไปจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง เพื่อให้การขับเคลื่อนตามมาตรการเป็นไปตามแผนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการและความพร้อมของโครงการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ 5 ประเภทของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ทันต่อสถานการณ์และเป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย”  นายคารม กล่าว









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.