เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ตรัง" อนุรักษ์หาดเจ้าไหม-เกาะลิบง พื้นที่มรดกอาเซียน


13 ต.ค. 2562, 15:13



"ตรัง" อนุรักษ์หาดเจ้าไหม-เกาะลิบง พื้นที่มรดกอาเซียน




วันที่ 13 ต.ค. 62 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า  ตามที่ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 15 ที่เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 7-9 ..ที่ผ่านมา  โดยมีประเด็นสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ได้แก่ การพิจารณารับรองพื้นที่คุ้มครองในภูมิภาคอาเซียน ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Park)  ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียน มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการประกาศเป็นมรดกอาเซียน เป็นลำดับที่ 45 และถือเป็นมรดกอาเซียนในลำดับที่ 5 ของประเทศไทย

        สำหรับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประกอบด้วยระบบนิเวศ 3 ลักษณะ คือ แม่น้ำ ปากแม่น้ำ และชายฝั่ง ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง ประกอบด้วย ป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อย ชายหาด หาดหิน แนวปะการัง  เป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่เนื้อที่กว่า 18,000 ไร่  เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก ประเภท พะยูน เต่าทะเล และโลมา สัตว์ป่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์   และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกอย่างน้อย 212 ชนิด ชนิดที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกซ่อมทะเลอก แดง นกฟินฟุต นกหัวโตกินปู ทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น  และยังได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) ลำดับที่ 1182 มีเนื้อที่รวม 414,456.25 ไร่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545



        ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า การที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับการคัดเลือกเป็นมรดกอาเซียน เป็นสิ่งที่ประชาชนชาวตรังเกิดความภาคภูมิใจ  โดยที่จังหวัดตรังเองได้พูดชัดเจนว่าการพัฒนาจังหวัด แม้ว่าจะเน้นด้านเศรษฐกิจ แต่ด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องดูแลคู่ขนานกันไป  ซึ่งการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน เกิดได้จากการใช้สิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม โดยอยู่ภายใต้กรอบของมรดกแห่งอาเซียน  โดยทางจังหวัดจะต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจว่าสิ่งที่ได้มานั้นมีคุณค่าอย่างไร และจะนำไปต่อยอดได้อย่างไร โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศที่ขณะนี้หลายประเทศส่งเสริม  ส่วนมูลค่าที่ได้จากการท่องเที่ยวในเชิงระบบนิเวศก็จะตามมา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของจังหวัดอยู่แล้ว

        ส่วนการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้น แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ทางจังหวัดได้มอบหมายให้หลายมหาวิทยาลัยมาทำงาน เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ รวมทั้งสมาคมไร้คาร์บอน มาช่วยกันวางแผนดูแล  ทั้งแหล่งหญ้าทะเลต้องดูว่า ความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหรือเปล่า เช่น มีไมโครพลาสติก นาโนพลาสติกหรือไม่ ที่กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลหรือไม่  รวมทั้งจะมีการสร้างความมีร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการรณรงค์กำจัดขยะซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกอาเซียนอย่างเหมาะสมและสมบูรณ์







Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.